รับลูกลงทุนร่วม เอกชน โครงการ “บ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย-คนชรา”

รับลูกลงทุนร่วม เอกชน โครงการ “บ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย-คนชรา”


ต่อเนื่องจากการเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจำนวนผู้ลงทะเบียนประมาณ 11 ล้านคน โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนในส่วนนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่หากจะต้องมีพร้อมในปัจจัย 4 ซึ่งที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในความต้องการดังกล่าว

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน เป็นประธานเปิดงาน “บ้าน ธอส. เอ็กซโป @ กรุงเทพ” ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดขึ้นโดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2560 ว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ “บ้านประชารัฐ” ตนอยากให้ทางการเคหะแห่งชาติ(กคช.) และ ธอส.รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม และดำเนินการในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่มีการลงทะเบียนกับรัฐบาลจำนวน 11 ล้านคน และโครงการบ้านสำหรับคนชรา โดยหากโครงการใดที่สามารถดำเนินการในรูปแบบ PPP สามารถที่จะเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ ก็มอบให้ กคช.และธกส.ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการต่อไป

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า จากการรับมอบนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี ทางธอส.พร้อมที่จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต้นทุนการก่อสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะมีประสานกับทาง กคช.อีกครั้งถึงความเป็นไปได้ หรือบริษัทเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีความรู้และเทคนิคในการสร้างบ้านในรูปแบบอื่นๆ ตามพันธกิจของ ธอส. ที่ต้องการให้คนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้มีที่พักอาศัย

ทั้งนี้หลักในการดำเนินการจะต้องวิเคราะห์เฉพาะตัวอาคาร ซึ่งอาจจะเป็นการก่อสร้างที่พักอาศัยรวม โดยไม่รวมมูลค่าของที่ดิน ซึ่งจะต้องเป็นราคาที่ผู้มีรายได้น้อยมีศักยภาพในการผ่อนชำระ ในราคาประมาณไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน ราคาอาคารประมาณ 4-4.5 แสนบาท มีระยะเวลาในการผ่อนไม่เกิน 40 ปี

สำหรับในส่วนของสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นน่าจะต้องมีการปล่อยสินเชื่อในหลักหมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกับจำนวนผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ 11 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ธอส.จะต้องทำการศึกษาหลักการเพื่อปล่อยสินเชื่อ ศักยภาพของผู้กู้ ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี และการวางแผนการต่างๆ เช่น การเช่าให้อยู่ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นเจ้าของ ซึ่งจะต้องขอเวลาในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของตัวเลือกต่างๆด้วย

เช่นเดียวกัน ดร. ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) กล่าวว่า กคช. ได้ทำโครงการ “บ้านประชารัฐ” ประมาณ 2 หมื่นยูนิต ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้เหลือประมาณ 1 หมื่นยูนิต  โดยตามยุทธศาสตร์ชาติเรื่องที่อยู่อาศัย ได้กำหนดเอาไว้คือ 5 ล้านหน่วย ภายใน 20 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเป็นความรับผิดชอบของ กคช.มีประมาณ 2 ล้านยูนิต ขณะที่ที่เอกชนรับผิดชอบประมาณ 1 ล้านยูนิต ซึ่งหากจะต้องเพิ่มเติมในส่วนของโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย และคนชรานั้น จะทำการศึกษาถึงความร่วมมือกับเอกชน

สำหรับราคาบ้านที่กำหนดไว้น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถชำระได้ โดยอยู่ที่ประมาณ 1-2 พันบาทต่อเดือนในลักษณะของการเช่า ในขณะที่ราคาซื้อขาย สำหรับราคาผ่อนจะตกอยู่ที่ประมาณ 2 พันบาทขึ้นไป ดังนั้นบ้านที่จะทำจะต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพที่ผู้มีรายได้น้อยได้รับ โดยขณะนี้ราคาบ้านในสต๊อกของ กคช.มีราคาเริ่มต้นที่ 4 แสน – 1 ล้านกว่าบาท มีอัตราการผ่อนที่ 2พัน- 8 พันบาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน กคช.กำลังพิจารณาในเรื่องสิทธิพิเศษค่าธรรมเนียมในการโอนที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และค่าภาษีต่างๆ ซึ่งจะต้องดูความเหมาะสม โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวอาจรวมไปถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มโครงการการบ้านประชารัฐด้วย

ดังนั้นตามนโยบายของ รองนายกรัฐมนตรี จึงจะต้องคำนึงถึงหลักการในส่วนนี้ โดยที่ กคช.และ ธอส.จะต้องดำเนินโครงการโดยที่ไม่มุ่งหวังกำไร เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย

สุดท้ายการรับลูกนโยบายดังกล่าวของ กคช. และธอส. จะต้องดำเนินการตั้งอยู่ในความรอบคอบเนื่อง จากการร่วมลงทุนกับเอกชน มักตกอยู่ในข้อครหาของการเอื้อประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เชื่อแน่ว่าจะเป็น 1 ในผลงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนกว่าครึ่งค่อนประเทศได้อย่างแน่นอน