3 เหตุผล ทำไมธุรกิจไทยต้องลงทุนในอาเซียน

3 เหตุผล ทำไมธุรกิจไทยต้องลงทุนในอาเซียน


แน่นอนอีกมาตรการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้นักลงทุนไทยรุกการลงทุนในประตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV และภูมิภาคอาเซียน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หลายครั้งที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอนาคตการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์หลัก เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนถือเป็น แหล่งการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอนาคต ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจเอเชีย รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของไทยที่จะไม่ใช่ Thailand First แต่คือ We First มุ่งเน้นเติบโตไปด้วยกันทั้งภูมิภาคอาเซียน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยภายในงานสัมมนา “Thailand Overseas Investment Forum 2017” ซึ่งบีโอไอร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้นว่า บีโอไอพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอาเซียน ทั้งนี้เหตุผลสำคัญของการส่งเสริมให้มุ่งลงทุนตลาดอาเซียนนั้น เนื่องจากค่าแรงของไทยอยู่ระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูงทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น  ซึ่งการลงทุนของไทยในอาเซียนจะนำผู้ประกอบการไทยไปสู่โอกาส 3 ด้านได้แก่ 1. โอกาสที่ธุรกิจไทยไปตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมไทยมีอยู่ ทั้งด้านแรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน 2. โอกาสให้ธุรกิจไทยรุกเข้าถึงตลาดอาเซียนที่จะรวมกันเป็นตลาดเดียวในอนาคตซึ่งจะช่วยต่อยอดให้สินค้าไทยไปสู่ระดับอาเซียน และ 3. โอกาสก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค จากการที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์จากอาเซียนในอนาคตได้อีก ในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอเปิดอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” มาแล้ว 11 รุ่น   มีนักลงทุนผ่านการอบรมกว่า 400 ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศแล้วจำนวน 89 ราย ด้าน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนของไทยในอาเซียน” โดยระบุว่าผู้ประกอบการที่ต้องการไปลงทุนในอาเซียนต้องเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่นดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจควรมีสายป่านที่ยาวและมีบริษัทแม่ที่ขายในไทยอยู่ก่อนแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนให้ดีเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนเพื่อขายสินค้าในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออกสินค้า เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และมีกำลังขยายตัว สินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ เวียดนาม แบ่งออกเป็น 3 เขต (เหนือ กลาง ใต้ ) พบว่ามีการแข่งขันสูงในเวียดนามใต้  ผู้บริโภคเปลี่ยนแบรนด์สินค้าง่ายแต่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด  ขณะที่เวียดนามตอนกลางการแข่งขันยังไม่สูงมาก และมีตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น การเข้าไปลงทุน ควรมีพนักงานท้องถิ่นที่มีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นเนื่องจากกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย เมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนหลายชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพราะมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและเปิดเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนมากจึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา ควรหาพันธมิตรทางการค้า โดยมุ่งไปที่ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่