เรื่องไม่เป็นเรื่องแต่ดันเป็นเรื่องเป็นราวฉาวโฉ่ขึ้นมา มีต้นตอจากความมุ่งมั่นเกินความพอเหมาะพอดีของผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ที่ต้องการให้ผลงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งล่าสุดได้รับการตีฆ้องร้องป่าวกันอย่างคับคั่ง – ครอบคลุม – ทั่วถึง ผ่านกลไกสื่อโทรทัศน์ ถึงขั้นมีการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติแบบ”1 ช่อง 1 รัฐมนตรี” แต่ละช่อง ถูก “ขอร้อง” หรือ “ขอความร่วมมือ”ให้ทำหน้าที่ประกบติดรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ โดยไม่เกี่ยงรูปแบบการเกาะติดจะเป็นแบบเห็บ – เหาหรือเป็นเงา ปรากฏการณ์ขอร้องสื่อให้ความร่วมมือในการทำหน้าที่ “กระบอกเสียง”ของรัฐบาล ในลักษณะที่อุบัติขึ้นในยุคสมัยรัฐบาลนี้ จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ 4.0 หรือปรากฏการณ์ “ปฏิรูป” ก็สุดแท้แต่จะเพ้อฝันจินตนาการกันไป แต่ที่แน่ ๆมันคือปรากฏการณ์ “อุบัติใหม่” และเชื่อมั่นว่าผู้คนที่มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ต้องไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่ลืมตาดูโลกแน่ๆเลย ย้อนเวลารำลึกเหตุการณ์ในอดีตยุคสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ด้วยกิจกรรมการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรคู่ขนานไปกับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กระจายไปทุกภาคของประเทศ แต่ไม่เคยมีแม้สักครั้งที่มีการนัดประชุมสื่อเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยตีฆ้องร้องป่าวผลงานรัฐบาล ทุกครั้งของการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรสมัยพล.อ.เปรม ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกสาขา ที่ต่างยาตราทัพไปเกาะติดการประชุมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งโดยมิได้นัดหมาย..มิได้มีการขอร้อง หรือขอความร่วมมือใดๆทั้งสิ้น คณะบุคคลที่รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลขณะนั้น มีหน้าที่หลักเพียงแค่ช่วยบริการอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นห้องนักข่าว…แจ้งวาระการประชุม…แจ้งวาระแถลงข่าว เพื่อสนับสนุนแก่การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ ไม่รู้จะนับเป็นบุญหรือเป็นกรรมสำหรับคนยุคนี้ที่ได้มีโอกาสเจอะเจอกันเรื่องราวพิลึกพิลั่นแบบนี้ ? ปรากฏการณ์ “อุบัติใหม่”ที่ว่านี้ไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์แปลกพิลึกพิลั่น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ย้อนแย้งกับเจตนารมย์ของรัฐบาลในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง แถมยังย้อนศรสวนทางกับเจตนารมย์การปฏิรูปสื่ออย่างแรง ฉับพลันทันใดที่ปรากฏการณ์นี้ “ฉาวโฉ่”ออกมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็ปะทุพุ่งพล่านขึ้นทันที สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของคนทำงานสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุ-โทรทัศน์ ออกแถลงการณ์(อีกแล้ว) โดยมีใจความสำคัญระบุว่าปรากฏการณ์ “อุบัติใหม่” เป็นการคุกคามสื่อ..เป็นการแทรกแซงสื่อ พร้อมกับประกาศจุดยืนขึงขัง “สื่อต้องมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบและสื่อไม่ใช่ “ม้าใช้”ของรัฐบาล สมาพันธ์นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรศูนย์รวมขององค์กรวิชาชีพสื่อ ยังสงวนท่าที “เงียบกริบ” ปราศจากการแสดงจุดยืนใดๆทั้งสิ้น คนทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนบางคน มีทัศนะในทางเปิดต่อสาธารณะทำนองว่ารัฐบาลแค่เชิญสื่อทีวีไปประชุม “ขอความร่วมมือ” ให้ช่วยเกาะติดความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีระหว่างลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแบบ 1ต่อ1 เท่านั้นไม่ใช่เป็นการ “สั่งการ” จึงไม่เข้าข่ายคุกคาม หรือแทรกแซงสื่อ ในทางตรงกันข้ามก็มีคนทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนบางคนมีทัศนะที่แตกต่างกันออกไปแบบสุดขั้ว โดยเห็นว่าในยุคสมัยที่อยู่ภายใต้ “รัฐบาลแบบพิเศษ”นี้ ไม่ว่าจะเป็น “คำสั่ง-ขอร้อง-ขอความร่วมมือ” ล้วนมีความหมายเดียวกันคือ “ต้องถือปฏิบัติ” อิทธิพลแห่งปรากฏการณ์อุบัติใหม่ ที่ขอความร่วมมือในลักษณะเฉพาะเจาะจงเลือกเฉพาะสื่อทีวี และจำเพาะสื่อทีวี “บางช่อง” กำลังจุดชนวนความแตกแยกใหม่ในแวดวงสื่อ..กำลังทำละลายศรัทธา ความน่าเชื่อถือของสาระที่สื่อสารผ่านสื่อ…และกำลังทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างร้ายกาจ ……………………………………………………………….