พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ว่า ตนอยากจะชี้ให้เห็นบทพิสูจน์ ในเรื่องของ “ความเพียร” กับ “ความสำเร็จ” ตามบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการก้าวมาสู่จุดสูงสุด ของนักกอล์ฟหญิง “มือ 1 ของโลก” ชาวไทยอย่าง “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล ที่แสดงให้เห็นว่า “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้” และ “ทุกความสำเร็จนั้นต้องได้มาด้วยความเพียร” ทั้งนี้ อาจมีหลายปัจจัยส่งเสริม ทั้งการสนับสนุนของครอบครัว ที่เป็นแรง ผลักดันสำคัญอย่างต่อเนื่อง และทุ่มเท แต่ที่สำคัญก็คือ ความวิริยะอุตสาหะของนักกีฬา การไม่ละความพยายาม และ “การเอาชนะใจตนเอง” เพื่อให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นานาให้ได้ ในการนี้ตนขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ในการแสดงความยินดีกับความสำเร็จในครั้งนี้ ขอขอบคุณ “โปรเม” ที่นำ “ความสุข” มาสู่คนไทย อีกครั้ง สำหรับข้อคิดจาก “โปรเม” ที่ตนเห็นว่าน่าสนใจ โดยขอให้นำมาประยุกต์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกๆ คน ในการฝ่าฟันอุปสรรค ทั้งในการดำรงชีวิตและการทำงาน ได้แก่ “การเป็นอันดับ 1 ไม่สำคัญเท่าความสุข” ความพึงพอใจ หมายถึงการทำในสิ่งที่ตนรัก โดยมี “ความฝัน” หรือเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันในการทำงาน อย่างมีระบบ มีแผนงาน และขั้นตอน ไม่ไร้ทิศทางและจะไม่ละความเพียรพยายาม เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายอย่างมีความสุข “จาก “เส้นทางสู่ความสำเร็จ” ของโปรเม ดังกล่าวนั้น ตนอยากให้เราทุกคนลองมองในเชิงเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเปรียบประเทศชาติเป็นเหมือน “นักกีฬา”ภายในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แล้วเราจะร่วมกันนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง” ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีปัญหาอะไรบ้างที่รอการแก้ไขเราจะต้องปฏิรูป ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต้องลงทุนอะไรบ้าง เพื่อวางรากฐานในอนาคต แล้วก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศ สุดท้าย ก็คือ เราจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ ที่เรากล่าวไว้ว่าเราจะต้อง “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ให้ได้โดยเร็ว ส่วนตัวนั้น ตนเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเสมือน “นักกีฬาป่วย” ที่ต้องการการรักษาตามอาการ 3 ประการกล่าวคือ (1) “ป่วยกาย” เช่น โครงสร้างระบบราชการที่อาจจะยังไม่สามารถให้การบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ รวมทั้งยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งเราต้องแก้ไขทั้งที่ตัวผู้ให้ และผู้รับ ตลอดจนทำให้กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการตรวจสอบ เราต้องกลับมาแก้ไขทั้งหมด โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจเรา ก็อาจจะยังไม่มีการเชื่อมโยง เกื้อกูลกันได้ ในทุกระดับเท่าที่ควร ยังไม่เชื่อมต่อเป็นห่วงโซ่อันเดียวกัน และโครงสร้างพื้นฐานก็อาจจะยังไม่สามารถรองรับการแข่งขันของโลกในปัจจุบันนี้ได้ ประการที่ (2) คือ “ป่วยใจ” ได้แก่ ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ปรองดองกัน ของคนภายในประเทศนะครับ ทำให้เราไม่มีความเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ตามความหมายในพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “รู้ รัก สามัคคี” รวมทั้งขาดการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จึงขาดแรงผลักดัน ขับเคลื่อนประเทศ ที่สำคัญประการ ที่ (3) คือการ “ป่วยความคิด” คือความไม่เข้าใจหลักการ หรือสำคัญผิด ทั้งในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ สิทธิ-หน้าที่พลเมืองเหล่านี้เป็นต้นนะครับ รวมทั้งการขาด “ฐานคิด” ที่เป็นระบบ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ อาการ “ป่วยกาย ป่วยใจ” นั้นเราก็อาจจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในช่วงที่ผ่านมา หรือบางคนบางกลุ่มก็อาจจะปฏิเสธเข้ารับการรักษาไปเลย ประเด็นสำคัญก็คือทุกคนที่มีปัญหาทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อย มีความยากจน อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเขา เราต้องเข้าใจเขา ทำยังไงรายได้ที่เขาไม่เพียงพอ ถ้าเราบังคับอย่างเดียวก็ไปไม่ได้ เราต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ เราต้องลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลงเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ใช้เวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา พยายามที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยของ กลับคืนมาอยู่ในครรลองที่เหมาะสม และมีความเป็นสากลให้มากยิ่งขึ้น จนวันนี้เราก็ได้รับความเชื่อมั่นจากเวทีระหว่างประเทศในหลายๆ ด้าน ตนมองว่าเรายังมีศักยภาพอีกมากมายนะครับ และพร้อมที่เป็น “ศูนย์กลาง” ในอีกหลายๆ ด้าน ทั้งอาหาร – สมุนไพร – การท่องเที่ยวและกีฬา – การบิน – และอุตสาหกรรม เพียงแต่เราต้องรักษา “อาการป่วย” 3 ประการให้ได้ และเราจะต้องทำงานร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์ บูรณาการ เราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน