นายกฯสอนมวย “สื่อ” เสนอข่าวด้วย “จรรยาบรรณ”

นายกฯสอนมวย “สื่อ” เสนอข่าวด้วย “จรรยาบรรณ”


              พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า การสื่อสารในระดับชาติ ที่มีสื่อมวลชนเป็น “ตัวกลาง” เราต้องยอมรับความจริงและต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่อง “ความเป็นกลาง” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของสื่อฯ โดยเราต้องวิเคราะห์ก่อนเสมอ ไม่อาจยึดมั่น ว่าเป็นจริงดังว่าได้ในทันที ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ “วิจารณญาณ” และ “จรรยาบรรณ” ในการทำหน้าที่ของสื่อฯ โดยฝากให้พิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และเลือกนำเสนอในประเด็นที่เสริมความรู้ ก่อเกิดปัญญา ให้กับประชาชนของประเทศ ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสารที่สังคมไทย ควรให้ความสนใจ และควรถูกนำเสนอในเชิงสร้างสรรค์

ดังเช่นข่าว “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟหญิงชาวไทย ที่ประสบความความสำเร็จและ เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชน ด้วยการเสนอข่าวควรเจาะลึกถึงเส้นทางสู่ความสำเร็จ การใช้ความเพียรพยายาม อดทนฝึกซ้อม ร่วมกับความทุ่มเท เสียสละของผู้ปกครอง หรือในแง่มุมความสำคัญของการเล่นกีฬา เราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬา แต่ทุกคนก็ควรเล่นกีฬาเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยเลือกกีฬาที่แต่ละคนชื่นชอบก็ได้นะครับ

หรือการเสนอข่าวการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมระดับโลก โดยวัดพระแก้วฯ, พระบรมมหาราชวัง และวัดโพธิ์ของไทย ติดอยู่ในอันดับต้นๆ  ซึ่งมีประเด็นให้นำเสนอข่าว เพื่อเป็นการต่อยอด สร้างสรรค์สังคมต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอประวัติความเป็นมา สร้างความภาคภูมิใจความเป็นชาติ ทำให้เกิดความหวงแหน ให้ความสำคัญ โดยช่วยกันอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน  โบราณวัตถุในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งก็จะเป็นจุดแข็ง สร้างงาน สร้างรายได้ เข้าสู่ชุมชนของตน

ตลิดจนเป็นการนำเสนอเพื่อขยายตลาดการท่องเที่ยวสำหรับ “ไทยเที่ยวไทย” เงินทองไม่รั่วไหล หรือเชิญชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวไทย ก็ใช้เป็นโอกาสที่จะกระตุ้นให้คนในชาติได้รับรู้ ถึงแนวทางการพัฒนา การท่องเที่ยวของไทย ที่จะขยายฐานออกไปอีก ทั้งการท่องเที่ยวทางกีฬาเชิงสุขภาพ เรือสำราญ ด้านอาหาร เป็นต้น

ขณะเดียวกันเราต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “การสื่อสารสร้างชาติ” ให้มากขึ้น ในทุกระดับ โดยเริ่มจากสถาบันพื้นฐานทางสังคม บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ “บวร” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ความรู้คู่คุณธรรม” ไม่ให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่สื่อสารกันอย่างไร้สาระ ทำให้เกิดความมักง่ายในการใช้ภาษาและการสื่อสาร

อย่างไรก็ตามสื่อแขนงต่าง ๆ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถช่วยให้การแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ ประสบความสำเร็จได้ พี่น้องสื่อฯ จะต้องตระหนัก และกำหนดบทบาท สร้างคุณค่าให้กับองค์กรของตนว่าจะทำร้ายประเทศ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะสร้างสรรค์สังคม