พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ว่า ตนอยากให้ทุกกคนได้ถามตัวเองว่ามีความเข้าใจกับ “3 เรื่อง” ต่อไปนี้ อย่างถ่องแท้มากน้อยเพียงใด เรื่องที่ 1.คือ ศาสตร์พระราชา เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรทฤษฎีใหม่ เรื่องที่ 2. ไทยแลนด์ 4.0 และเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นการรู้จักกันแต่เพียงหลักการเพียงผิวเผิน แล้วส่วนราชการ–ภาครัฐ– ภาคเอกชน– ภาคประชาสังคม ต่างนำไปกล่าวหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพียงเท่านั้น โดยไม่เข้าใจสาระสำคัญว่า “ทั้ง 3 เรื่อง” นี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร ขณะที่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องทั้ง 3 มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกออกไม่ได้ สิ่งสำคัญก็คือการเรียนรู้ เพื่อนำ ไปสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยหลักการของ “ศาสตร์พระราชา” เป็นพื้นฐาน เป็นเข็มทิศนำทาง ซึ่งต้องใช้การประยุกต์ให้ตรงกับกิจกรรมของแต่ละบุคคล หรือแต่ละองค์กร ไม่ใช่เพียงการเรียกบุคลากรหรือประชาชนมาอบรม ติดป้าย มอบใบประกาศ แถลงข่าว พูดกันแต่ “กระพี้” คือเปลือกนอก แต่ลืม “แก่นสาร” อันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้เราสามารถหยิบยกตัวอย่างของการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติที่สัมฤทธิ์ผล เป็นรูปธรรมจากทุกสถานีอบรม, จากทุกพื้นที่มาสร้าง หรือเรียนรู้ร่วมกัน จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีกว่า 4,000 แห่ง, จากศูนย์การเรียนรู้นับหมื่นแห่ง หรือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ โดยเราต้องจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักการ ต้องดูถึงผลสัมฤทธิ์ของ “ศาสตร์พระราชา” ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอ และลดความเสี่ยงจากการถูกกระทำ หรือผลกระทบต่างๆ จากภายนอกด้วย วันนี้รัฐบาลได้เดินหน้าสร้าง “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยวางบทบาทเป็น “ผู้สร้างสะพาน” เชื่อมความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ ในประชาคมโลก ภายใต้แนวคิด “เข้มแข็งไปด้วยกัน” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 2030) ของสหประชาชาติ ไปแลกเปลี่ยนและสร้างการรับรู้ในเวทีระหว่างประเทศ จนได้รับการยอมรับมีผลสำเร็จเชิงประจักษ์ และมีความเป็นสากล ปัจจุบันมีประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็น “SEP for SDGs Partnership” กับไทยแล้ว 22 ประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานในอนาคต ได้แก่ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนต้นแบบ ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในประเทศที่ไทยมีความร่วมมือ, มีการส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในและนอกหลักสูตร ให้กับเยาวชนของเราในการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายกับเยาวชนโลก รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “การทูตประชารัฐ” เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ส่งเสริมและยกระดับการทูตและการต่างประเทศของไทย โดยเน้นความร่วมมือในมิติ Soft Power เพื่อแสวงหาความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน