อีกเรื่องคือข่าวการเสียชีวิตของนักเขียนฮ่องกงวัย 65 เจ้าของนามปากกา“หวงอี้”ซึ่งเขียนนิยายกำลังภายในไว้หลายเรื่องที่ “น.นพรัตน์” แปลเป็นภาษาไทยและนักอ่านไทยติดกันงอมแงมเช่น เจาะเวลาหาจิ๋นซี และมังกรคู่สู้สิบทิศ เป็นต้น
ทั้ง2เรื่องสำคัญนี้สะท้อนวงการหนังสือของบ้านเราได้อย่างน่าสนใจและอาจจะนำไปสู่คำถามที่ชวนแสวงหาคำตอบว่าทำไมคนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าคนหลายๆชาติ รวมทั้งทำอย่างไรให้คนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้นเพราะการพัฒนาคนเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้และการศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญก็คือการอ่านนี้เอง
ถ้าไม่นับงานมหกรรมหนังสือฯและงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดต้นปีและปลายปีที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ วงการหนังสือบ้านเราปัจจุบันซบเซาลงอย่างน่าใจหาย หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ปิดตัวเองกันเป็นทิวแถวเพราะคนหันไปใช้สื่อใหม่ ๆในยุคดิจิตัล แม้งานขายหนังสือแห่งชาติทั้ง 2 งานในแต่ละปีดังกล่าวจะยังคึกคักพอสมควรแต่ก็สืบเนื่องจากกลยุทธการตลาดลดแลกแจกแถมและการประชาสัมพันธ์แบบเจาะกลุ่มคนอ่านหนังสือส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อหนังสือในช่วงการจัดงานทั้ง 2 ช่วง
ขณะที่ตลอดปียอดขายหนังสือแทบจะไม่ขยับนอกจากนี้หนังสือระดับคุณภาพก็มีน้อยมาก หนังสือที่ขายดี เป็นเรื่องผี ไสยศาสตร์ ประเภทยิ่งอ่านยิ่งงมงาย
โดยแนวโน้มคนไทยทุกวันนี้อ่านหนังสือน้อยลงเรื่อยๆและงานเขียนระดับคุณภาพรวมทั้งระดับที่จัดเป็นวรรณกรรมก็น้อยจนแทบไม่มีความเคลื่อนไหว จนแม้นักเขียนรางวัลซีไรต์ก็แทบจะไม่มีใครสนใจกันแล้ว
อาจจะมีผู้เห็นต่างยกตัวอย่างกรณีนิยายกำลังภายในของ”หวงอี้”ที่เพิ่งเสียชีวิตไม่กี่วันมานี้ซึ่งงานแปลสำนวนน.นพรัตน์มียอดขายสูงมากทุกเรื่องแต่ข้อท็จจริงจะมีคนรุ่นใหม่สักกี่คนที่อ่านงานของ”หวงอี้”นอกจากคนรุ่นเก่าที่อ่านนิยายกำลังภายในของ”กิมย้ง”กับ”โกวเล้ง”
ความจริงก็คือผู้อ่าน “เจาะเวลาหาจิ๋นซี”หรือ“มังกรคู่สู้สิบทิศของ”หวงอี้”ร้อยละเกือบร้อย
คือผู้ชื่นชอบมังกรหยกและ8เทพอสูรมังกรฟ้าของ”กิมย้ง”รวมทั้งเคยคลั่งไคร้”เซียวลี้ปวยตอ”ในฤทธิ์มีดสั้นของ”โกวเล้ง” แต่จู่ ๆ ผลงานของทั้ง 2 ท่านก็ต้องสะดุดหยุดลงเนื่องจาก”กิมย้ง”เลิกเขียน ส่วน”โกวเล้ง”เสียชีวิต ผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่ปรากฎนิยายกำลังภายในที่เทียบชั้นงาน”กิมย้ง”กับ”โกวเล้ง”ได้
กระทั่งต่อมาคนไทยรุ่นอ่านนิยายกำลังภายในทั้งสำนวน จำลอง พิศนาคะ ว.ณ.เมืองลุงและน.นพรัตน์ เติบโตสู่วัยกลางคนจนวัยชรางานเขียนของ”หวงอี้”ไม่ต่างจากการกลับมาเขียนอีกครั้งของ”กิมย้ง”หรือ”โกวเล้ง”กลับฟื้นคืนชีพวงการนิยายกำลังภายในกลับคึกคักขึ้นอีกครั้งยอดขายที่สูงและกระแสความโด่งดังของนิยายกำลังภายในของ”หวงอี้”จึงไม่ได้เกิดจากนักอ่านคนไทยรุ่นใหม่ๆแต่ประการใดและนักอ่านเหล่านี้คาดว่าก็คงมีอายุอยู่ไม่ถึงนักเขียนคนต่อไปที่จะมาสืบสานงานต่อจาก”หวงอี้”ผู้ล่วงลับเพราะล้วนสูงวัยกันเป็นส่วนใหญ่แล้วนั่นเอง
เรื่องคนไทยรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลงทำให้เกิดความห่วงใยในคุณภาพของผู้คนที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทยมีผู้โต้แย้งว่ารุ่นเก่ารุ่นใหม่ก็อ่านน้อยด้วยกันทั้งนั้นเพียงแต่ยุคนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้อ่านจากหนังสือ แต่อ่านจากสื่ออิเล็คทรอนิคส์แทนมากกว่า แต่สิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ งานดี ๆที่น่าอ่าน มีน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งยิ่งน่าห่วงว่า คนไทยจะยิ่งไม่อ่านกันมากขึ้นไปอีก
ปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือจึงเป็นรื่อง2มิติที่ทับซ้อนกันได้แก่การจะต้องส่งเสริมการผลิตงานเขียนระดับคุณภาพมิติหนึ่งส่วนอีกมิติหนึ่งคือการส่งเสริมให้เกิดการอ่านเมื่อมีงานเขียนดีๆจะอ่านจากหนังสือหรือจะอ่านจากอินเตอร์เน็ตก็ตาม ก็จะเพิ่มคนรักการอ่านให้มากขึ้นได้ และเมื่อคนอ่านมากๆ คนเขียนก็จะมีพลังในการสร้างสรรค์งานดีๆออกมา พลังที่ว่านี้ประกอบด้วยพลังทั้งทางธุรกิจและจิตใจด้วย
การส่งเสริมการอ่านรัฐควรแสดงบทบาทนำด้วยการสร้างห้องสมุดให้มากๆและจัดงบประมาณเลือกซื้อหนังสือดีๆจากสำนักพิมพ์หรือนักเขียนต่างๆเพื่ิอให้ประชาชนอ่านตามห้องสมุด งบประมาณจัดซื้อหนังสือนี้ ถ้ามีคณะกรรมการที่สามารถเลือกหนังสือที่มีสาระและน่าอ่านได้เป็นที่ยอมรับก็จะทำให้นักเขียนเกิดขึ้นได้อีกมากมายและจะต้องแข่งขันกันผลิตผลงานเด่นๆเพื่อเข้าไปอยู่ในห้องสมุดประชาชนและคนไทยก็จะได้อ่านงานเขียนที่จะช่วยเปิดชีวทัศน์และโลกทัศน์ เป็นคนไทยผู้รอบรู้ มีเหตุมีผล และจะช่วยทำให้บ้านเมืองเรามีสันติและเจริญรุ่งเรืองต่อไป
โดย เบี้ยหงาย