กลซ้อนเกมพหุภาคีปิโตรเลียม

กลซ้อนเกมพหุภาคีปิโตรเลียม


หัสเดิมเริ่มต้นเมื่อเอ่ยถึงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ชวนให้ระลึกถึงวลีอมตะ “ยุ่งตายห่ะ” ของท่านประธานรัฐสภา “ประสิทธิ์  กาญจนวัฒน์” เมื่อกว่า 40 ปีก่อน

อาการยุ่งตายห่ะของร่างกฎหมายที่ว่า เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานานาหลายหลากของบุคคล..คณะบุคคล ซึ่งมีต่อร่างกฎหมายฉบับนี้

ปฏิกิริยากลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ต่อต้านคัดค้านการผ่านร่างกฎหมาย แบบสุดฤทธิ์สุดเดช โดยมีเงื่อนไขหากไม่มีการบรรจุประเด็น “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ไว้ในกฎหมาย

แกนนำของกลุ่ม คปพ.ซึ่งเปิดหน้าชนจนกระทั่งชาวบ้านคุ้นหน้าคุ้นตาได้แก่ คุณรสนา  โตสิตระกูล…คุณธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล…คุณปานเทพ  พัวพงษ์พันธ์..ม.ล.กรกสิวัฒน์  เกษมศรี..คุณบุญยืน  ศิริธรรม…คุณอิฐบูรณ์  อ้นวงษา

ในทางตรงกันข้ามปฏิกิริยากลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านคัดค้านการบรรจุประเด็น “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ไว้ในกฎหมาย

แกนนำขบวนการกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยคณะบุคคลที่เคยคลุกคลีกับวงจรธุรกิจธุรกรรมว่าด้วยการพลังงานมาอย่างโชกโชน ทั้งในบทบาทกรรมการบริษัท ปตท…ในบทบาทผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรม – กระทรวงพลังงาน รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแม้กระทั่งบริษัทน้ำมันข้ามชาติ อย่างเช่น คุณปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์..คุณอนิก  อัมระนันทน์..คุณคุรุจิต  นาครทรรพ..คุณมนู  เลียวไพโรจน์..คุณมนูญ  ศิริวรรณ..คุณทวารัฐ  สูตะบุตร..คุณเมตตา  บันเทิงสุข..คุณพลายพล  คุ้มทรัพย์..คุณบรรยงค์  พงษ์พานิช

ข้างฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีปฏิกิริยาไปอีกแบบ…

ปฏิกิริยาล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ต่อร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่มีการ “งัดข้อ” กันอย่างเข้มข้นของกลุ่มพลังมวลชน 2 ขั้ว คือเห็นว่าเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นเรื่องที่ “ยังไม่พร้อม และยังไม่มีความจำเป็น”

กระนั้นก็ตามพล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับว่าคณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2560 ให้ปรับถ้อยคำในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ก.พ. 2560 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม โดยให้บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียม

ท่าทีพล.อ.ประยุทธ์ในห้วงสุดท้ายของการพิจารณาลงมติร่างกฎหมายที่ว่านี้ น่าสังเกตว่าเปี่ยมไปด้วยความสุขุม นุ่ม ลุ่มลึก และเปิดเผยจุดยืนกรณีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ได้รู้ทั่วกันอย่างแจ่มชัด ชนิดหมดความเกรงใจไว้หน้า คปพ.อีกต่อไป

ทำนองเดียวกันปฏิกิริยาของ คุณวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความแตกฉานประเด็นข้อกฎหมาย ก็ยืนยันว่าร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่ผ่านวาระแรกไปแล้ว ไม่มีถ้อยคำ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” บัญญัติไว้ ดังนั้นประเด็นว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงไม่น่าจะมีอยู่ในการพิจาณาวาระที่ 2 และ 3

เมื่อถึงวันดีเดย์.. 30 มี.ค.ซึ่งเป็นกำหนดนัดหมายประชุมสนช.เพื่อลงมติร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม วาระที่ 2 และ 3 บริเวณหน้ารัฐสภามีการชุมนุมแสดงปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายของกลุ่มแนวร่วม คปพ. โดยกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนสวมใส่หน้ากากหน้าพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับถือป้ายคัดค้านร่างกฎหมาย

เป็นที่น่าประหลาดใจไม่น้อยที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมวันนั้น ทั้ง คุณรสนา และคุณธีระชัย ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญของ คปพ. กลับไม่ได้ไปปรากฏตัวร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม

คู่ขนานกันไปบรรยากาศภายในรัฐสภาก็คึกคักไปด้วยความเคลื่อนไหวของ สมาชิกสนช.เพื่อโน้มน้าวกันสุดเดช ให้ยินยอม “ถอนมาตรา 10/1” ว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกไป แล้วไปบัญญัติเป็น “ข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการ ภายใน 60 วัน เพื่อศึกษาพิจารณารายละเอียด รูปแบบ วิธีการของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสม ภายใน 1 ปี”

ผลของการประนีประนอมรอมชอมที่ดี ส่งผลให้การพิจารณาลงมติร่างกฎหมายปิโตรเลียม วาระ 2 และ 3 ผ่านไปด้วยดี โดยได้เสียงสนับสนุนท่วมท้น 227 เสียง ขณะที่มีเพียง 1 เสียงที่ลงมติคัดค้าน และงดออกเสียงแค่ 3 เสียง

นับจากนี้ต่อไปก็ต้องลุ้นกันว่า จะมีใครเป็นใครบ้างถูกอุ้มเข้าไปเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และบทบาท – อำนาจ – หน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะไปก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมอย่างไรกันบ้าง

……………………………………………..