บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ..ลายพราง

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ..ลายพราง


“เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” คือวัฏจักรความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในโลก เฉกเช่นเดียวกับการมีอำนาจ-วาสนา-ลาภ-ยศ-สรรเสริญ ก็ย่อมพบกับความเสื่อมถอยซึ่งอำนาจ-วาสนา-ลาภ-ยศ-สรรเสริญ ไม่เร็วก็ช้า

ความเร็ว..ความช้าของการเกิดความเสื่อม ผูกพันแนบแน่นอยู่กับบุญธรรมกรรมแต่ง

ใครหรือคณะบุคคลใดหมั่นสร้างกุศลกรรมให้มหาชนยอมรับด้วยความสมัครใจ ย่อมยืดระยะเวลาความเสื่อมที่จะมาเยือนให้ทอดยาวออกไป

ในทางตรงกันข้าม…ใครหรือคณะบุคคลใด ทำให้มหาชนยอมรับด้วยความจำใจ..จำยอมย่อมเหนี่ยวนำความเสื่อมให้มาเยี่ยมเยือนรวดเร็วฉับพลัน น่าใจหายใจคว่ำ

ปรากฏการณ์ “ดับเครื่องชน” ของม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล ต่อร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการยกระดับไปสู่ความเป็นพระราชบัญญัติ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเต็มตัว ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่“จุดเปลี่ยน”สำคัญและบันดาลความเสื่อมให้บังเกิดแก่รัฐบาลและคสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นหัวขบวน หรือไม่

สาระสำคัญที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร หรือ “คุณชายอุ๋ย” ซึ่งเคยทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและเคยกำกับดูแลกิจการกระทรวงพลังงาน ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 1 ออกมาประกาศจุดยืน “หักดิบ” ร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ที่มีความพยายามใช้อำนาจอิทธิพล “สอดไส้”ใส่ไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมด้วยความพิลึกพิสดาร

หลายคนอาจฉงนงงงวยในความพิลึกพิสดารของการสอดไส้ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ว่ามันเป็นไปได้ไง ???

อาการพิลึกของพฤติกรรม “ยัดไส้” เป็นไปในลักษณะ “ปลุกผี” รีไซเคิลสิ่งที่มันตายไปแล้ว ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ด้วยเทคนิคชวนพิศวง

ย้อนเวลาถอยหลังกลับไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2558 พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ เพื่อนร่วมรุ่นตท.12 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพลังงานและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมและกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการผลประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียมของประเทศแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

ถัดมาวันที่ 17 มิ.ย. 2558 พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ เปิดแถลงข่าวยืนยันความจำเป็นของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ต่อมาวันที่ 24 มิ.ย.2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติบรรจุวาระให้มีการลงมติร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในวาระแรก

ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีผู้เห็นชอบต่อร่างของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่มีถ้อยคำบัญญัติ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เอาไว้ จำนวน 152 คน มีผู้ไม่เห็นด้วย 5 คน และงดออกเสียง 16 คน

ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมีผู้เห็นชอบต่อร่างของกระทรวงพลังงาน ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วย “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” กำหนดไว้จำนวน 154 คน มีผู้ไม่เห็นด้วย 2 คน และงดออกเสียง 17 คน

ความประหลาดมหัศจรรย์พันลึกอยู่ตรงที่ พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ ซึ่งเชียร์ให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติกลับออกเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีถ้อยคำใด ๆระบุถึง  “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ความพิศวงดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย จำนวน 21 คน เพื่อจัดสำรับนำไปสู่การลงมติวาระ 2 และวาระ 3

พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ เจ้าเก่ายังคงรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยมีพล.อ.อ.อดิศักดิ์  กลั่นเสนาะ เพื่อนร่วมรุ่นตท.12เช่นเดียวกัน ซึ่ง“งดออกเสียง”ในวาระแรกลอยลำเป็นรองประธานคณะกรรมการธิการฯ แถมยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการวางหมากกลยุทธ์จัดเรียงวาระการประชุมพิจารณากฎหมายให้เป็นไปด้วยความแยบยล

กลเกมเพื่อการรีไซเคิล “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ในลีลา “ลับ-ลวง-พราง”เยี่ยงนี้แหละที่กระตุกต่อมความสงบสยบเคลื่อนไหวของ “คุณชายอุ๋ย” ให้แตกกระจุยกระจาย กระทั่งต้องใส่เกียร์เดินหน้าชนสะบัดช่อ!!!!

โดย ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค