พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ว่า ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับดัชนีความทุกข์ยาก(Misery Index) ประจำปี 2560 ว่าประเทศไทยมีระดับความทุกข์ยาก “ต่ำที่สุด” ในโลก ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยมีความสุขที่สุดในโลก ตนขอชื่นชมหน่วยงานทุกฝ่ายของรัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งเครือข่าย “ประชารัฐ” ที่ร่วมกันสร้างความสุข และการรักษาอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน
สำหรับการจัดอันดับในลักษณะนี้เป็นการมอง “ความสุข” ในสายตาของต่างประเทศ ที่เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในหลาย ๆ ด้านทั้งการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีธรรมาภิบาล มุ่งมั่นขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น,รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ โดยมีการเร่งรัดที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ อาทิเช่น เรื่องการประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU), การบินพลเรือน (ICAO) ให้เป็นไปตามกติกาสากล และในเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาลนี้ เป็นต้น โดยการดำเนินการในทุกมิติ ทุกมาตรการของรัฐบาลและ คสช. ที่ทำอยู่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และส่งผลให้เห็นผ่าน “ตัวชี้วัด” ต่าง ๆ
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็น “ความสุขที่ยั่งยืน” คือ ความพออยู่ พอกิน และมีชีวิตที่สงบสันติ เป็นความสุขของตัวเรา และเรารู้สึกได้ ส่วน “การไม่รู้จักพอ” ก็คือการปล่อยตัว ปล่อยใจ ซึ่งย่อมนำไปสู่การแสวงหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ก็จะไม่รู้จัก “ความสุขถาวร” แล้วเราก็จะไปหลงอยู่กับความสุข “ชั่วครู่ ชั่วยาม ไม่จีรัง” ซึ่งตรงข้ามกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสอนให้คนไทย รู้จัก ความพอประมาณ เดินบนทางสายกลาง ไม่ประมาท มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ไม่ยอมแพ้ต่อกระแส ทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม จนหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการใช้ “ความรู้คู่คุณธรรม” เป็นเครื่องช่วยยกระดับจิตใจของพี่น้องประชาชน นับตั้งแต่เยาวชนขึ้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ ถือว่าเป็นนโยบายหลัก และรากฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ “ทรัพยากรมนุษย์” ของประเทศ
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ ทำให้เป็นที่มาของกลไกการทำงานต่างๆ ที่รัฐบาล ได้กำหนดขึ้นในปัจจุบัน ตั้งแต่คณะขับเคลื่อนต่างๆ, กลไกประชารัฐ, คณะกรรมการประชารัฐ 12 คณะ, บริษัทประชารัฐรักสามัคคี 76 จังหวัดและล่าสุด คือคณะกรรมการป.ย.ป.เพื่อให้บรรลุภารกิจของรัฐบาลตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญฯ ซึ่งล้วนดำเนินการภายใต้หลักคิด การมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ลงไปจนถึงระดับฐานราก โดยดำเนินการทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ตามกฎหมาย และมีเหตุมีผล
อย่างไรก็ตามเรื่องการทุจริต ติดสินบน รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการ “ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” และให้ความสนใจในการเร่งแก้ไขปัญหาทุจริต ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ต้นตอ” หรือสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการเปิดกว้างรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกระดับในทุกมิติ และพยายามดำเนินมาตรการที่จะปิดช่องโหว่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาครัฐ เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ความถูกต้อง ความสุจริต ให้สังคมไทย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกหลานของเรา