โลกศิวิไลซ์ยุคสมัยดิจิตอลที่อะไรต่อมิอะไรสารพัดล้วนสืบค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ต ทำให้จำเป็นต้องยกเครื่องกระบวนคิดและกระบวนงานกันอุตลุด โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
กรอบความคิดเดิม ๆที่ กฟผ.รวมทั้งคนในกระทรวงพลังงานยังคงยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก…โรงไฟฟ้ารอง เป็นกรรมสิทธิ์ครอบครองของตนเอง อยู่ในบ้านตัวเองเพื่อความมั่นคงทางพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องสลัดทิ้งไป เพื่อเปิดพื้นที่รองรับความรู้ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า…ให้ความปลอดภัยดีกว่า…แต่ให้ความมั่นคงและความประหยัดไม่ด้อยไปกว่ากัน
“มาซาโยชิ ซัน”ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มซอฟท์แบงก์แห่งญี่ปุ่นได้จุดประกายความคิดในการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด – ปลอดภัยขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากประเทศญี่ปุ่นเผชิญมหันตภัยรุนแรงจากแผ่นดินไหว – สึนามิและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า รวมทั้งความเสี่ยงภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เขาเริ่มต้นด้วยการตั้ง บริษัทเอสบีเอ็นเนอร์ยี ขึ้นมาทำโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกในญี่ปุ่นที่ปัจจุบันโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกของเขามีอยู่ถึง 33 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น
เขาต่อยอดความคิดให้ขยายขอบเขตกว้างไกลยิ่งขึ้นครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเซีย ด้วยแนวคิดระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเรียกมันว่า “Asia Super Grid-ASG”
กระบวนการถักทอแปลงความคิดเป็นรูปธรรม ถูกลงมือปฏิบัติด้วยการร่วมทุนกับบริษัทนิวคอม ของมองโกเลีย ตั้งบริษัทคลีนเอ็นเนอร์ยี่เอเชียติดตั้งกังหันลมในทะเลทรายโกบี โดยมีเป้าหมายผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ต้องเรียกว่า “โคตรมโหฬาร” ถึง 7 กิ๊กกะวัตต์
ทำนองเดียวกันเขาก็ขยับไปร่วมทุนกับกลุ่มบาชร์ติเอ็นเตอร์ไพร์สของอินเดีย และกลุ่มฟอกซ์คอมเทคโนโลยีของไต้หวัน ตั้งบริษัท เอสบีจีคลีนเทค ทำโซลาร์ฟาร์ม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ ทางใต้ของรัฐอันตระประเทศ ในอินเดีย
ยิ่งไปกว่านั้นยังจับมือทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับ State Grid Corporation of China (SGCC) แห่งประเทศจีน และ Korea Electric Power Corp (KEPCO) แห่งเกาหลีใต้ รวมทั้ง Rosseti แห่งรัสเซีย ดำเนินการศึกษาแนวทางพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศร่วมกัน และขนานนามว่า “Golden Ring” หรือ “วงแหวนทองคำ”
ในเบื้องต้นผลการศึกษาความเป็นไปได้สอบผ่านสบาย โดยคำนวณค่าใช้จ่ายในการนำกระแสไฟฟ้าพลังงานลมจากมองโกเลียผ่านจีนและเกาหลีใต้ทางสายส่งใต้ทะเลไปขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น หรือค่าใช้จ่ายในการนำกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากรัสเซียผ่านจีนและเกาหลีใต้ทางสายส่งใต้ทะเลไปขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น มีอัตราค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกันที่หน่วยละ 10.5 เซ็นต์ หรือประมาณ 3.70 บาทเท่านั้น
อัตราค่าใช้จ่ายระดับนี้กินขาดอัตราค่าไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. แถมสิ่งแวดล้อมยังไม่ต้องถูกกระทำชำเลาอีกต่างหาก
โดย : ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค