มติสยองขวัญ !!!

มติสยองขวัญ !!!


ได้ฤกษ์เปิดถ้วยออกหวยกันไปเรียบร้อยโรงเรียนลุงตู่ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือ จังหวัดกระบี่ หลังจากที่เลื่อนกันมา 2 ปี

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีทหารเป็นแกนสำคัญ นำโดยพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยพล.อ.อ.ประจิณ  จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือฤกษ์ศุกร์ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ออกมติอนุมัติเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือ จังหวัดกระบี่ เพื่อให้มีปริมาณกระแสไฟฟ้าจำนวน 800 เมกะวัตต์ ป้อนเข้าระบบสนองตอบความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในปี 2564/2565

ฉับพลันที่มติกพช.ไฟเขียว เดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แพร่สะพัดออกสู่สาธารณะ ปฏิกิริยาการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนก็เคลื่อนไหวแสดงพลังคัดค้านในทันที

ปฏิกิริยาคัดค้านและต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจะไม่จำกัดวงอยู่จำเพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่มีแนวโน้มที่จะขยายวงเป็นดาวกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตามที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนมีโครงข่ายเชื่อมโยงไปถึง

เหตุปัจจัยที่ปลุกเร้าปฏิกิริยาคัดค้าน ให้ยกระดับขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อต้านโครงการนี้ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน น่าจะเป็นผลมาจากท่าทีของฝ่ายรัฐที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนชัดเจนในการผลักดันการเดินหน้าโครงการนี้ในลักษณะ “รวบรัดตัดความ”

คณะกรรมการไตรภาคีศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ซึ่งมี พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่วมกับผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้แทนภาคประชาชนเมื่อทำงานไประยะเวลาหนึ่งก็เริ่มไม่เป็นที่ไว้วางใจจากผู้แทนภาคประชาชน กระทั่งมีการขอถอนตัวจากผู้แทนภาคประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการให้การสนับสนุนโครงการ ทั้งที่มีการกระทำน่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสุขภาวะชุมชน (EHIA)

สาระสำคัญที่ชาวบ้านลุกขึ้นคัดค้านและต่อต้านโครงการนี้ ไม่ได้ตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์แบบไม่ลืมหูลืมตา แต่คัดค้านและต่อต้านเพราะกฟผ.ไม่มีข้อมูลชัดเจนและน่าเชื่อถือว่าจะดูแลผลกระทบต่อวิถีชีวิต…คุณภาพชีวิตและชุมชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างไร เนื่องจากโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอย่างกว้างขวางอย่างน้อย 13 แห่งคือหินกองนอก-หินม่วง-หินแดง-เกาะปู-เกาะพีพีดอน-เกาะพีพีเล-เกาะบิต๊ะนอก-เกาะบิต๊ะใน-เกาะลันตาใหญ่-เกาะปอ-เกาะห้า-เกาะรอกใน-เกาะไหง

ยิ่งไปกว่านั้น กฟผ.ยังเปิดการประกวดราคาสรรหาเอกชนเข้าดำเนินโครงการรองรับเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนก.ค.2559  ราวกับมีญาณทิพย์หยั่งรู้เหตุการณ์อนาคตโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทพาวเวอร์คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่นออฟไชน่าและบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวลลอปเมนท์ เป็นผู้ชนะประมูลด้วยราคา 32,000 ล้านบาทจากราคากลางที่ตั้งเอาไว้ 49,000 ล้านบาท

น่าเป็นห่วงเป็นกังวลเหลือเกินว่า พลังแห่งอำนาจนิยมที่ผลักดันการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ท่ามกลางกระแสคัดค้านต่อต้านของประชาชน อาจลงเอยในลักษณะเดียวกับโครงการแทนทาลั่ม จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529

ในเมื่อกพช.มีอำนาจ “แจ้งเกิด” โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ได้…ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าประชาชนก็มีอำนาจ “สั่งตาย”โครงการนี้ได้เหมือนกัน

โดย : ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค