ทั้งนี้ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสาขาในพื้นที่ หรือโทรฯสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชม.
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลได้พยายามดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักให้มากที่สุด ที่สำคัญก็คือรัฐบาลและประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไปโดยตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย ได้ศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหา “น้ำท่วม” ในพื้นที่ภาคใต้ อย่างยั่งยืนให้ได้โดยเร็ว ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และได้จัดนำบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระยะยาวของรัฐบาลด้วย
ขณะเดียวกันหากเราทบทวนกันให้ดีให้รอบด้านจะพบว่าปัญหาต่าง ๆ ในประเทศ ล้วนเกิดจาก “คน” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งควรจะหาทางออกร่วมกันแม้อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดกับทุกคน แต่ควรเป็นประโยชน์กับ “คนส่วนใหญ่” ของประเทศ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ไปแล้ว “คนส่วนที่เหลือ” ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเราทุกคนต้องยอมรับความจริงว่าในการแก้ปัญหาใด ๆที่มีความสลับซับซ้อน เราอาจจะต้องอดทนลำบากในระยะแรก ๆ เพื่อจุดมุ่งหมาย “ปลายทาง” ที่สดใสกว่า ดีกว่าเราจะปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป ชั่วลูกชั่วหลานเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดย“คนไทย”ต้องรักสามัคคีกัน ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ” ซึ่งมีกิจกรรมการจัดหาแหล่งน้ำ การสร้างระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ระบายน้ำ พร่องน้ำ และการทำแก้มลิง
อย่างไรก็ตามบางพื้นที่อาจจะไม่ยอมให้ทำในพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ต้องการน้ำ ไม่ต้องการให้มีน้ำท่วม ฉะนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ ที่ทำความเข้าใจกับประชาชนเหล่านี้ให้ได้เข้าใจถึงหลักในการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องผูกติดกับ “ผลประโยชน์” ของส่วนรวมเป็นหลัก แล้วก็จะมีผลมาถึงส่วนของตนเองด้วย