การประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของ “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต” (ศปท.) นับเป็นกลไกใหม่ ในแต่ละทุกกระทรวง มีหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบรวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย โดยต้องทำงานประสานสอดคล้องกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) –ป.ป.ช.– ป.ป.ท. –สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลนี้ถือว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็น “วาระแห่งชาติ” ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556 – 2558 อันดับของประเทศไทย “ดีขึ้น” ทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ก่อนที่รัฐบาลนี้ และ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ อยู่อันดับที่ 102 ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 76 (“ดีขึ้น” เกือบ 30 อันดับ) โดยเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลคือ “คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกงในทุกวงการ” เพราะเราต้องทำงานเชิงรุก ป้องกันตั้งแต่ต้นทางปัญหาการคอรัปชั่น ต้องแก้เรื่องนี้ด้วยจิตใจ ด้วยค่านิยม คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล ทำอย่างไรให้ง่าย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าต้องเกิดจากใจของทุกคน
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า “ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปร่วมประชุมผู้นำ G20 Summit ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานกลุ่ม G77 ตามคำเชิญของผู้นำจีน ก็เป็นครั้งแรกที่ประธานกลุ่ม G77 ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะผู้สร้างสะพานเชื่อม ระหว่างสมาชิก G77 134 ประเทศ และ G20 โดยเฉพาะประเด็นความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศ ที่มีต่อการเมืองเศรษฐกิจ และวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทย ตามหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่รัฐบาลได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ ในทุกระดับ ภายใต้แนวทางการส่งเสริมการ “ระเบิดจากข้างใน” มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความต้องการของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งความเชื่อมั่น เชื่อว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของ 134 ประเทศ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนด้วย
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ASEAN Summit ครั้งที่ 28 และ 29 ซึ่งมีการประชุมพร้อมกันครั้งเดียวกัน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งหมด 15 การประชุม ระหว่างวันที่ 6– 8 กันยายน 2559 นั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับการประชุมผู้นำ G20 นอกจากกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้า การลงทุน รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว เวทีนี้ อาเซียนและประเทศพันธมิตร เน้นความมี “พลวัต” ที่จะต้องดำเนินการสร้างความสมดุลใน 3 ด้านเพื่อนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่ทุกคนได้รับการดูแล และประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” การสร้างความมั่นคงที่แข็งแกร่ง เน้นการพัฒนาศักยภาพของคนทุกวัยอย่างสมดุล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในประชาคมอย่างสร้างสรรค์และการสร้างความเชื่อมโยงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ละเลยการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพภายในภูมิภาค เพื่อให้การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น
สิ่งที่ประเทศไทยและประชาชน “คนไทยทุกสาขาวิชาชีพ และทุกเพศวัย” จะได้รับจากการกระชับความสัมพันธ์ ในทุกเวทีการประชุม ในทุกกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ๆทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค ในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ในการเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานคุณภาพสูง รวมทั้งการสนับสนุนการค้า และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อจะเชื่อมต่อธุรกิจท้องถิ่น OTOP, SMEs, Start-up ให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่การผลิต ในระดับภูมิภาคและระดับโลก จะสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตามนโยบาย “Thailand 4.0” และการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ในเชิงบูรณาการ โดยน้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะสอดคล้องกับ SDGs 2030 ของสหประชาชาติให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับความสามารถในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่างๆในอนาคตด้วย
สุดท้ายนี้ในวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. 2559 ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ถึง 12 นาฬิกา รัฐบาลจะจัดให้มีการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาล ครบรอบ 2 ปี จะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ รายละเอียดต่างๆได้รวบรวมเป็นหนังสือ สำหรับเผยแพร่และแจกจ่ายสื่อมวลชน โดยรองนายกรัฐมนตรี ก็จะสรุปนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ จนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปัญหาที่สำคัญๆของประเทศ ที่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน