“ตราสัญลักษณ์จีไอ” จะมอบให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าทางการเกษตร เช่น กรณีของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ผู้ที่สามารถขึ้นทะเบียนจีไอได้ก็คือเกษตรกร โรงสี ชาวนา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตข้าว โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการให้มีกระบวนการควบคุมตรวจสอบการผลิต มีคู่มือและแผนปฏิบัติงานตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงต้นทางเพื่อให้รู้ถึงแหล่งที่มา ก่อนจะขึ้นทะเบียนและมอบตราสัญลักษณ์ที่สามารถนำไปติดไว้ที่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ปัจจุบันมีจังหวัดที่มีสินค้าจีไอจำนวน 53 จังหวัดจาก 61 ชนิดสินค้า อาทิ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ขนมหม้อแกงเมืองเพชร หมูย่างเมืองตรัง นิลเมืองกาญจนบุรี ชามตราไก่ลำปาง ผ้าไหมยกดอกลำพูน ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอนครชัยศรี การแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง เป็นต้น ถ้าสินค้าเหล่านี้ได้รับการจดทะเบียนจีไอในระดับโลก ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่า และส่งออกได้มากขึ้น
ล่าสุด “ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล” จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการขอจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553ล่าสุด นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งใหม่ที่ จ.ระยองเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากเป็นรูปธรรม ทุเรียนของ อ.ลับแล ที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในโลก หอมหวาน เนื้อนิ่ม กลิ่นไม่แรงมาก จะได้รับการยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นสิ่งที่ปลูกได้เฉพาะในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้น จะทำให้คุณค่าของทุเรียนเพิ่มขึ้นทั้งราคา คุณภาพและชื่อเสียง