นอกจากนี้รัฐบาลยังได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของล้นเกล้าฯทั้ง 2 พระองค์ในเรื่องป่า น้ำ ดิน เกษตรกรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ต่าง ๆมาประยุกต์ต่อยอด ขยายผลความสำเร็จ เพื่อจะผลักดันในโครงการต่าง ๆของภาครัฐให้เกิดการบูรณาการทุกกระทรวงร่วมกัน โดยได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย เช่นการทำฐานข้อมูลกลาง (Data center) การจดทะเบียนเกษตรกร Agi-Map, One-Map, GovChannel, G-NEWS, ศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (GAC), การโซนนิ่ง , เกษตรแปลงใหญ่ , และ ฝายประชารัฐ เป็นต้น เพื่อเชื่อมองค์ความรู้ส่งให้ถึงมือประชาชน โดยผ่านศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล 7,424 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,000 แห่งของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) การขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ Free Wi-Fi จะเพิ่มการกระจายสู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต
สำหรับในเวทีระหว่างประเทศ ได้น้อมนำหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือหลักการของสหประชาชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับมวลมนุษยชาติทั้งโลก
1.การประชุมระดับสูงสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ประเทศสมาชิกจำนวน 193 ประเทศที่ต้องการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในภาวะปัจจุบัน และกำหนดทิศทางเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตในปี 2573 ในที่ประชุมต่างให้การยอมรับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทาง “เศรษฐกิจสีเขียว”
2. การประชุมสุดยอดเอเชียด้านความมั่นคง ครั้งที่ 15 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการพัฒนาจากภายในตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และใช้นโยบาย “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่ทรงดำเนินงานพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
และ 3.การประชุมกลุ่ม G-77 ที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานกลุ่มในปีนี้ มีสมาชิกกว่า 130 ประเทศได้แบ่งปันการพัฒนาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่งศูนย์ศึกษา เพื่อให้ทุกประเทศได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศสมาชิก โดยได้รับการยอมรับในหลักการเหตุผลเพื่อเร่งให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 ร่วมกัน
อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญคือ การพัฒนา 4 เรื่องได้แก่เรื่องขั้นตอน เรื่องระยะเวลา เรื่องค่าใช้จ่าย และเรื่องกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. การให้บริการผ่านศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จทุกเรื่อง ณ ศูนย์บริการ One Stop Services แห่งเดียวกัน ได้เน้นการบูรณาการหน่วยงาน มาครั้งเดียวขออนุญาตได้ทั้งก่อสร้าง น้ำ ไฟ โทรศัพท์ เป็นต้น
2. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมีความสะดวก ลดอุปสรรค รวดเร็วโปร่งใส ในการติดต่อขอรับบริการจากรัฐ
3. นำเทคโนโลยีสารสนเทศ แอปพลิเคชั่น ในมือถือต่าง ๆ มาให้บริการตามนโยบาย “Digital Economy” เพื่อลดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา ในการให้บริการ การขออนุญาต และการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐ
สำหรับผลจากการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย “Digital Economy” ได้มีการนำระบบการชำระเงินแบบ “เอนี ไอดี” (Any ID) หรือระบบการชำระเงินแบบ “นานานาม” มาใช้สำหรับการโอนจ่ายเงินภาครัฐให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชน ผู้สมัครใจลงทะเบียนในระบบ Any ID โดยประชาชนที่จะลงทะเบียนต้องมีข้อมูล 3 อย่าง คือ 1.เลขที่บัตรประชาชน 2.เบอร์โทรศัพท์มือถือ 3.เลขที่บัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนใน 2 ประการ คือ 1. การโอนเงินสวัสดิการจากรัฐบาล กรณีประสบภัยพิบัติ ผลผลิตตกต่ำ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวมทั้งเงินสวัสดิการของข้าราชการ เช่นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด เงินบำนาญพิเศษ ผ่านระบบ Any ID ลดขั้นตอน มีทางเลือกรับเงินโอนจากรัฐบาลมากขึ้น สำหรับเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากรก็สามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ลงทะเบียนได้ทันที ไม่ต้องส่งเป็นเช็คขีดคร่อมทางไปรษณีย์ ซึ่งต้องดำเนินการให้ประชาชนสามารถมีความสะดวกโดยไม่ต้องเดินทาง โดยจะเริ่มให้บริการนี้ หลังวันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป
2. การโอนเงินให้กันของพี่น้องประชาชน โดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชีธนาคาร ปัจจุบันมีการโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชันไปยังบัญชีต่างธนาคารต่างๆ ทั้งประเทศกว่า 76 ล้านบัญชี ค่าธรรมเนียมประมาณ 25-35 บาทต่อครั้ง แต่ระบบ Any ID ใช้แค่เบอร์มือถือ สามารถโอนเงินให้กันได้ ไม่ต้องจำเลขบัญชี ค่าธรรมเนียมถูกกว่า เมื่อเทียบกับการโอนเงินแบบเดิม
สำหรับเรื่องสุดท้ายคือ ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย ถึง 10 ก.ค. 2559 นี้ เป็นห้วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือที่เรียกว่า ฟุตบอลยูโร 2016 ตนสนับสนุนให้พี่น้องประชาชน เยาวชน ให้มีการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ชมกีฬาเพื่อความบันเทิง เพื่อการศึกษา ซึ่งโบราณว่า “ไฟไหม้ 10 ครั้ง ไม่เท่าเสียพนันครั้งเดียว” ดังนั้นตนมีความห่วงใยลูกหลาน เยาวชนเกี่ยวกับการพนันบอล และการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะพลาดพลั้งได้โดยง่ายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจตกเป็นเหยื่อของการพนัน โดยได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถานศึกษาให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนเล่นการพนัน เข้มงวดกับผู้ที่เล่นการพนันฟุตบอล เจ้ามือทุกรูปแบบ ขณะที่เจ้ามือที่เปิดรับแทงผลฟุตบอลอาจจะต้องเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินอีกด้วย เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อหยุดพฤติกรรมของนักพนัน รวมทั้งสื่อมวลชนต้องออกมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการพนันอย่างต่อเนื่อง คือชักชวนให้คนดู ให้คนส่งไปรษณียบัตรได้ แต่ก็เตือนด้วยว่าอย่าเล่นการพนัน นั่นก็เพื่ออนาคตของประเทศทั้งสิ้น ฝากความหวัง ฝากความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับคนไทยทุกคน ขอให้ทุกอย่างสำเร็จไปได้ด้วยดี