นายกฯน้อมนำพระราชดำรัสรักษาป่าไม้

นายกฯน้อมนำพระราชดำรัสรักษาป่าไม้


ในโอกาสนี้นายกยังได้แสดงความยินดีกับคณะทำงาน Thai Everest 2016 ที่ประสบความสำเร็จ พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เทือกเขาหิมาลัย โดยได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมือ ของ “หมออีม” ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์  เหนือจุดที่สูงที่สุดของโลก นับหญิงไทยคนแรก ที่สามารถสร้างประวัติครั้งสำคัญได้สำเร็จ  

                รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลจึงได้พิจารณาเพื่อขยายผลให้เกิดการปฏิรูปในวงการกีฬาของไทย ได้แก่  1. การจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬา โดยมีวิทยาลัยพลศึกษาเดิม เป็นวิทยาเขตอยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและกำหนดแนวทางที่เป็นไปได้ มีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)    2. ก็คือกระบวนการผลิตนักกีฬาของไทย ตามศักยภาพและสรีระ ให้มีความพร้อมอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ขาดตอน ทั้งประเภทอาชีพ สมัครเล่น และคนพิการ  และ 3. ก็คือการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา มาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อยกระดับนักกีฬาไทย ทุกประเภทสู่มาตรฐานสากลให้ได้ครับ

                  และสำหรับกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารบ้านพักนักเรียน ของมูลนิธิพันธกิจสุขสันต์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  นายกได้ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งได้กำชับให้ความช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพง

               สำหรับการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการ ณ จังหวัดนครราชสีมาเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้พบปะกับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการเพิ่มศักยภาพพืชเศรษฐกิจ    การส่งเสริมประมงพื้นบ้านได้มีการมอบพันธุ์กุ้งและพันธุ์ปลาตะเพียน การมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี  ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมพื้นที่ 3,182 ไร่ แก่ราษฎร 199 ราย ใน 2 อำเภอ  ฯลฯ 

                     สำหรับในเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในลุ่มน้ำสำคัญ ที่ จ.นครราชสีมาที่ผ่าน มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในปี 58/59 จำนวน 11 อำเภอ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 467,706 ไร่ และพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 53, 56 กระทบพื้นที่การเกษตรและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน จำนวน 2 อำเภอ  ทั้งนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการจัดทำฝายกั้นน้ำ ตามแนวทาง “ประชารัฐ” สำเร็จไปแล้ว จำนวน 170 แห่ง เพื่อชะลอน้ำ กักเก็บน้ำไว้ให้สามารถที่จะเลี้ยงพืช ผัก สวนครัว ต่างๆ ได้อย่างน้อย ก็มีรดน้ำพืชผักสวนครัวได้  และยังสร้างเพิ่มรวม 182 แห่ง  นอกจากนี้ยังมีโครงการใหญ่ๆ อีก 2 โครงการได้แก่ 

                  1.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง เป็นการปรับปรุงแก้ไขแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยจากน้ำส่วนเกินล้นเขื่อน  และได้ปรับปรุงระบบระบายน้ำ ได้แก่ 1.การยกระดับสันเขื่อน 2.การเพิ่มความกว้างทำนบดิน 3.การปรับปรุงฐานรากตัวเขื่อนให้แข็งแรง4.  การปรับปรุงคลองผันน้ำ จากเขื่อนลำพระเพลิง ไปยังอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และ 5.การขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลาย เพื่อให้มีปริมาตรความจุสูงขึ้นเพื่อที่จะเติมกันได้ในระบบอ่าง

                   2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ล่าสุดไดมีการขออนุมัติให้ดำเนินการ โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ใช้ในการเกษตรกรรม ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชน ในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อ.พระทองคำ อ.เทพารักษ์  อ.ด่านขุนทุด อ.โนนไทย อ.โนนสูง และ อ.เมือง  โดยโครงการต่างๆนี้ ได้มอบนโยบายกระทรงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการเร่งด่วน ให้เกิดผลชัดเจน ภายในปี 2560  และปรับโครงการที่ระยะยาว ให้เป็นระยะสั้นเพื่อจะลดผลกระทบ และก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ให้ทันเวลา   

   

            ส่วนของภาคการเกษตรนั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาลำบากมามาก เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ มีความเข้าใจสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม น้ำ ดิน อากาศ โดยการใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ โดยเข้าไปศึกษาเรียนรู้ดิจิตอล ซึ่งจะช่วยทำให้ เกษตรกรคนไทยหูตากว้างไกลขึ้น เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์  

               รวมทั้งน้อมน้ำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ พระราชินีจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ พระราชินีจะสร้างป่า”   อันนี้เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และก็จะตราตึงอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เรารักษาป่า ฟื้นฟู เร่งการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เรามีน้ำ  อะไรต่างๆเหล่านี้ก็กำลังให้คณะกรรมการนโยบายจัดที่ดินที่มีกระทรวงหลายกระทรวงรับผิดชอบอยู่ให้ไปพิจารณา