ขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังระบุถึงรายได้ของผู้สูงอายุ
ระบุว่าร้อยละ 21.6 เป็นผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 20,000
บาทต่อปี ร้อยละ 25.2 มีรายได้เฉลี่ย 20,000–39,999
บาทต่อปี ร้อยละ 18.6 มีรายได้เฉลี่ย 40,000–59,999
บาทต่อปี ร้อยละ 13.7 มีรายได้เฉลี่ย 100,000–299,999
บาทต่อปี และร้อยละ 4.2 มีรายได้เฉลี่ย 300,000
บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งมีแหล่งรายได้หลัก มาจากเงินบำเหน็จบำนาญ ร้อยละ 50 รายได้จากบุตรหลานหรือคู่สมรส ร้อยละ 39
รายได้จากการออมเงินหรือลงทุนต่าง ๆ ร้อยละ 11
ในส่วนรายจ่ายที่เกิดขึ้นบ่อยและจำเป็นอย่างมาก
คือรายจ่ายที่ใช้จ่ายในกับเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีร้อยละ 55
ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักอาศัย ร้อยละ 9 นอกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายทั่ว ๆ ร้อยละ 36
นี่คือข้อมูลที่สำรวจเฉพาะในประเทศไทย
แต่หากนับรวมเอาประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกเข้าไปด้วย ตลาดกลุ่มนี้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่อีกตลาดหนึ่งของการทำธุรกิจ
ซึ่งประเทศไทยมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นประเทศเป้าหมายในการเกษียณอายุของผู้สูงอายุต่างชาติ
เช่น
บริการของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วแต่มีราคาที่ถูกกว่า
สภาพอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี ความมีน้ำใจของคนไทย ฯลฯ
แน่นอนว่าหากผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่กำลังมองหาตลาดเพื่อการลงทุน
ตลาดผู้สูงอายุจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจในอนาคต
ดังนั้นหากจะเริ่มทำธุรกิจที่จับกลุ่มตลาดผู้สูงอายุ
ก็ควรจะมีการวางแผนดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ
และไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุต่อไป โดยสำนักข่าว “ThaiQuote” มีไอเดียการทำธุรกิจดังกล่าวมาแนะนำ
1. ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและที่พักอาศัย
ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการอยู่อีกมาก และมีค่าการให้บริการค่อนข้างสูง
หากผู้ประกอบการสนใจควรให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลากรที่เป็นผู้ให้บริการ
ในส่วนของที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุเคยมีการพูดถึงเมื่อหลายปีก่อน
และผู้เขียนเคยไปเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวของ จ.สุพรรณบุรีที่ อ.บางปลาม้า
โดยเป็นของนายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักย์ อดีต รมว.ท่องเที่ยวฯ ที่ได้จัดทำโครงการขึ้นในสมัยดำรงตำแหน่ง
ผวจ.สุพรรณบุรี
2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ควรเน้นไปที่อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล
น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลย
ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ส่วนประกอบที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ
โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบย่อย
โดยการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งหาได้ง่าย
และสะดวกในการขนส่ง
รวมทั้งการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หยิบจับง่ายเหมาะสมกับผู้สูงอายุ
3. ธุรกิจสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้าน
เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ด้วยสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย
โดยควรออกแบบดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ เช่น
เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้และไม่สูงเกินไป ที่นอนยางพาราที่มีความแข็งตัว
เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ
4. ธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้า เน้นเสื้อผ้าแนวคลาสสิก
คำนึงถึงความสะดวกสบายในการสวมใส่ของลูกค้าที่มีอายุมากขึ้น เช่น ง่ายต่อการสวม
ขนาดของชุดพอดีตัวแต่ไม่ให้รัดรูปจนเกินไป มีขนาดของเสื้อผ้าให้เลือกมากเพียงพอ
การผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงอายุที่ชอบออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำงานสังคม
หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อน เป็นต้น
5. ธุรกิจเครื่องสำอางและสปา
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ
เพราะอย่าลืมว่าผู้สูงอายุก็ต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลทางด้านร่างกายเช่นกัน
แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตซึ่งผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดอาการระบายเคืองจากเครื่องสำอางได้ง่ายกว่ากลุ่มวัยหนุ่มสาว
ส่วนเรื่องของของธุรกิจสปานั้น
จำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด
6. ธุรกิจทัวร์
ด้วยสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากกว่า 2.2
ล้านคนต่อปี นี่จึงถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามอง อย่างไรก็ตาม
ลักษณะของการจัดทริปทัวร์ควรจะต้องเอื้อประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ เช่น
การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเหมาะสม การจัดโปรแกรมแบบ Slow Tourism ไม่เร่งรีบ
เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ปลอดมลพิษ การอำนวยความสะดวก การบริการรับส่งจากสนามบิน
การบริการตรวจร่างกายในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ร้านค้า หรือบริการที่เกี่ยวข้องกัลผู้สูงอายุ
ควรออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกและตรงต่อความต้องการของผู้สูงอายุในการเข้าใช้บริการ
เช่น ความต้องการจุดพักระหว่างการจับจ่าย โดยคำนึงว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการให้ร้านค้าเข้าใจถึงความต้องการในช่วงวัยของเขา
แต่ก็ไม่ต้องการได้รับการดูแลเสมือนผู้สูงวัยที่อ่อนแอ
ที่มา : thaiquote