ที่ผ่านมากสทช.ได้ออกหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าบริการประเภทเสียง
(Voice)
และบริการข้อมูล (Data) ในอัตราต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมบนคลื่นความถี่ย่าน
2100 MHz และกำหนดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย
1 รายการที่มีอัตราค่าบริการต่ำกว่า แต่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าบริการเฉลี่ยเดิม
ทั้งนี้จากการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการบนย่านความถี่
2100
MHz เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยสำนักงาน กสทช.พบว่าบริการประเภทเสียงอยู่ที่
0.69 บาทต่อนาที ค่าบริการข้อความสั้น (SMS) 1.15 บาทต่อข้อความ
ค่าบริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) 3.11 บาทต่อข้อความ
และบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 0.26 บาทต่อเมกกะไบท์
จากความคิดเห็นของนายประวิทย์
ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมองว่า
อัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่ผู้ใช้บริการจะสามารถตรวจสอบได้
เพราะมีลักษณะเป็นการขายพ่วงบริการ
“ที่ผ่านมาพบว่า
รายการส่งเสริมการขายส่วนใหญ่ของค่ายมือถือเป็นการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน
โดยไม่มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการตามที่กสทช.กำหนดไว้ว่าต้องคิดค่าบริการตามจริง
ใช้งานเท่าไร จ่ายเท่านั้น”
ขณะเดียวกัน
รายการส่งเสริมการขายที่ออกมาไม่มี Fair Usage Policy (FUP) หรือไม่ได้ระบุว่าใช้งานไม่จำกัดเหมือนที่เคยมีในอดีต
ทำให้เมื่อผู้ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแพ็คเกจแล้วต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มจากเดิม
ต่างจากในอดีตที่เมื่อใช้งานเกินกว่าแพ็คเกจแล้วความเร็วจะลดลง
ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถใช้งานต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม
เช่นเดียวกับ
นายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) สำนักงาน
กสทช. กล่าวว่าแม้อัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือหลังการออกใบอนุญาต 3จี 2100
MHz จะมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่พบว่ายังมีบางแพ็กเกจที่ราคาสูงกว่าข้อกำหนด
สุดท้ายข้อสงสัยของใครหลายคนที่ว่า แพคเกจ
“เหมาจ่าย” คุ้มหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนา ซึ่ง
กสทช.จะต้องตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์ตามแพ็กเกจ
รวมถึงแสดงความชัดเจนในการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ตามระยะเวลาที่ใช้งานจริง เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ