น่าคิด! ทำไมเมืองไทย (ไม่)สร้างโรงไฟฟ้าขยะ

น่าคิด! ทำไมเมืองไทย (ไม่)สร้างโรงไฟฟ้าขยะ


ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสีย 
แต่ปรากฏว่าการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าของไทยยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
โดยปี
2556 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษได้ทำการสำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศพบว่ามีจำนวน
 
26.77 ล้านตัน แต่มีการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเพียง 0.86
ล้านตัน หรือเพียง 47.48 เมกะวัตต์เท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนระบุไว้ว่า
ตามแผนแล้วเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะของไทยระหว่างปี
2551-2565 นั้นอยู่ที่
160 เมกะวัตต์ (จากศักยภาพที่มีกว่า 320 เมกะวัตต์) โดยในปี 2559 ตามแผนที่วางไว้จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในจ.ภูเก็ตเพิ่มขึ้น
2 แห่ง ชลบุรี 1 แห่ง จันทบุรี 1
แห่ง และ ตาก 1 แห่ง ส่วนในปี 2565 มีเป้าหมายเพิ่มที่ จ.นครปฐม 3 แห่ง ชลบุรี 1
แห่ง และเชียงใหม่อีก 1 แห่ง แต่ในความเป็นจริงหลายพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้
เนื่องจากเกิดแรงต่อต้านและอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือทุนในการดำเนินการ
เพราะโรงไฟฟ้าขยะหนึ่งโรงต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งหากเอกชนจะลงทุนก็ต้องคำนวณว่าเมื่อผลิตไฟฟ้าออกมาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะคุ้มหรือไม่
หรือว่าใช้ระยะเวลาคืนทุนกี่ปี

สำนักข่าว Thai quote สอบถามไปยังสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต
ได้รับข้อมูลว่าจังหวัดภูเก็ตมีโรงไฟฟ้า  2
โรง โรงที่เปิดดำเนินการในปัจจุบันเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2551 (เอกชนรับสัมปทานก่อสร้าง)
อีกหนึ่งโรง (โรงเก่า) อยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยกำจัดขยะได้วันละ 700 ตัน
ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าวันละ 2.5 เมกะวัตต์ เหลือฝังกลบ 5
% ซึ่งมีบ่อฝังกลบ
5 บ่อ โดยขยะในภูเก็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวันจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว
คาดว่าภายใน 15 ปี ขยะในภูเก็ตจะเพิ่มเป็นวันละ 1,000 ตัน
หากไม่มีการวางแผนด้านการกำจัดขยะให้ดีจะสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ และมีรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศ
ได้ยกเรื่องขยะล้นเมืองเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องกำจัดให้หมดไปในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
น่าจะสร้างความอุ่นใจได้ว่าเราจะไม่ต้องเผชิญกับขยะล้นเมืองในวันข้างหน้า