การขับเคลื่อนในเรื่องนี้เกี่ยวพันกับทุกกระทรวง
โดยเฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน
ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
เน้นด้านวิชาการและเทคนิคเป็นหลักทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา
การวิเคราะห์ทดสอบ การจัดทำมาตรฐานเต้ารับ เต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่
ข้อดีของยานยนต์ไฟฟ้าคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากท่อไอเสียของยานยนต์ไฟฟ้าใช้ระบบหยดน้ำที่เป็นไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจนจึงไม่ก่อให้เกิดควันจากท่อไอเสีย
ปัจจุบันมีการมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
การมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ร่วมกันพิจารณาดำเนินการผลิตผลงานวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแบตเตอรี่
วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะมีมาตรฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
โดยเริ่มจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานีประจุไฟฟ้าก่อนคือเต้ารับเต้าเสียบ
ด้าน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ
เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก
หากประเทศไทยไม่เร่งส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังอาจจะเสียเปรียบและก้าวไม่ทันประเทศคู่แข่ง
โดยปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
มีการลงทุนในสายการผลิต เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานยนต์จำนวนมาก
ซึ่งจะเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้
หากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังน่าจะมีการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้นภายใน
3-5 ปีข้างหน้า
ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มรถยนต์เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการยานยนต์ไฟฟ้า
ในระดับชุมชนก็สามารถผลิตรถไฟฟ้าได้ ทั้งจักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
สามล้อไฟฟ้า รถเกี่ยวข้าว หรือแม้แต่ รถอีแต๋นไฟฟ้า!!!