จากกรณีที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 ก ค.60 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแกนนำพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 หมายเลขดำที่ อ.4925/2555 ที่ พ.ต.ต.สุรพงษ์ สายวงศ์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 69 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 71 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 71 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 44 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว และอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กรณีบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 362 และ 365
ทั้งนี้อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ
ต่อมาหลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่กับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ใช้เครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลแล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย และช่วงวันที่ 26 ส.ค. 2551 – 3 ธ.ค. 2551 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิดทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 จำเลยที่ 1-5 และจำเลยที่ 6 ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ประกาศให้ประชาชนไปชุมนุมยังสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือเอ็นบีที กระทรวงการคลัง จากนั้นวันที่ 26 ส.ค. 2551 จึงได้เคลื่อนขบวนจากทำเนียบฯ ไปชุมนุมยังบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นผู้ชุมนุมได้ผลักดันแผงเหล็กกั้นอะลูมิเนียม ปีนรั้วเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล บางส่วนตัดโซ่คล้องกุญแจประตู 2 และประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนรถปราศรัยติดเครื่องขยายเสียงเข้าไปตั้งเวทีอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชักชวนให้ประชาชนที่อยู่ภายนอกเข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาล และแกนนำกลุ่มพันธมิตรได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค. 2551
จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมปราศรัยและบุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แม้ว่าบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สถานที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ไม่ใช่จะเข้าออกตามอำเภอใจได้ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ชุมนุมนั้นเห็นเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุอันรับฟังได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการเข้าไปในทำเนียบเพื่อห้ามปราบผู้ชุมนุมไม่ให้ทำลายทรัพย์สินเสียหาย แม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการห้ามปราบผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยพร้อมผู้ชุมนุมได้บุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล โดยปีนรั้ว ใช้คีมตัดโซ่คล้องประตู อันทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย และเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีคนใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจึงต้องเข้าไปหลบอยู่ในทำเนียบรัฐบาลนั้น แต่ในวันที่ 26 ส.ค. 2551 ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่สามารถอ้างเพื่อยกเว้นไม่ให้ต้องรับโทษได้ แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ถือว่ามีความผิด
Tag แกนนำพันธมิตร จำคุก ศาลฎีกา
การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-6 กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 อนุมาตราสอง, 362 และ 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ระหว่างได้ประกันตัวอุทธรณ์คดีวงเงินคนละ 200,000 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้นหนักเกินไป เห็นควรปรับบทลงโทษให้เหมาะสม พิพากษาแก้เป็นจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา โดยคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
ต่อมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของแกนนำ พธม. เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลย 5 ราย เป็นหลักทรัพย์คนละไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนนายสนธิ จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นประกันเนื่องจากถูกจำคุกในคดีอื่น พร้อมทั้งยื่นฎีกาต่อสู้คดี ซึ่งศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาสู้คดี ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท รอลุ้นว่าศาลฎีกาจะมีพิพากษาเป็นอย่างไรต่อไป และล่าสุดวันนี้(13ก.พ.) ศาลฎีกา ได้พิพากษายืนตามชั้นอุทธรณ์ สั่งจำคุก 6 แกนนำพันธมิตรฯคนละ 8เดือน โดยไม่รอลงอาญา และเตรียมคุมตัวส่งเรือนจำด้วย