“เมอร์ส” มหันตภัยร้าย ที่ (ไม่) ตระหนก

“เมอร์ส” มหันตภัยร้าย ที่ (ไม่) ตระหนก


การทำความรู้จักกับ
“เมอร์ส” ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ โรคซาร์ส หรือ
Severe Acute Respiratory Syndrome-SARS ซึ่งคนเอเชีย
และคนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะแพร่ระบาดอย่าหนักในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ราวปี
2546

                แต่กับ “เมอร์ส” ซึ่งมีต้นกำเนิดราวปี
2555 ในประเทศซาอุดิอาราเบีย ที่มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า “แพะ”เป็นพาหะนำเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจค่อนข้างรุนแรงและเฉียบพลัน
มีอาการไข้ ไอ หายใจหอบและหายใจลําบาก ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีภาวะปวดบวม
นอกจากนี้ในผู้ป่วยอีกจํานวนมากจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารได้แก่ท้องร่วงร่วมด้วยผู้ป่วยบางรายมีภาวะไตวาย
ซึ่งในจํานวนครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดจะเสียชีวิต ส่วนในผู้ที่มีโรคประจําตัวซึ่งทําให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือลดน้อยลง
การแสดงของโรคอาจมีความแตกต่างออกไป โดยมีระยะฟักตัวของ“เมอร์ส” ราว 14 วัน

                กลับมาที่กระแสการพบผู้ป่วยเมอร์สในประเทศไทย
มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส
รายที่
2 ของประเทศไทย เป็นชายชาวโอมานอายุ 71 ปี ขณะนี้รักษาตัวในห้องแยกโรคที่สถาบันบำราศนราดูร
วันนี้ผู้ป่วยมีอาการรู้สึกตัวดี เหนื่อย ได้รับออกซิเจนและยาบรรเทาอาการ
เนื่องจากมีอาการอักเสบที่ปอด รับประทานอาหารได้
 

เพราะ “เมอร์ส” ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน
การป่วยในโรคเมอร์สจึงทำได้แค่เพียงใช้การรักษาแบบดูไปตามอาการ  และยังไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จําเพาะ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประชาชน
ในขณะนี้ คือ ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน  โดยพยายามหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ
จาม หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน  ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหากมีการสัมผัสกับผู้ป่วย
รวมทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด
หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจํานวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค แนะนําให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย
ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม และการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ กินร้อน
ช้อนกลาง ล้างมือ

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข
ได้ติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ ประกอบด้วย ญาติที่เดินทางมาพร้อม
 ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องบิน คนขับรถแท็กซี่ พนักงานโรงแรม
และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยผู้สัมผัสทั้งหมดนี้
จะนำเข้าระบบเฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ
14 วัน
จนพ้นระยะฟักตัวของโรค ทั้งนี้มีการติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด และมีการใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายโรคอย่างสูงสุด
ประเทศไทยได้มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจจับโรคดังกล่าวอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง
 

                ขณะที่ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ณ
วันที่
7 มกราคม 2559 จากรายงานผู้ป่วยทั้งหมด
26 ประเทศ พบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 1,626 ราย เสียชีวิต 586 ราย

 
             
เช่นเดียวกับ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป
(
ECDC: European Centre for Disease Prevention and Control)  รายงานว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง
หรือโรคเมอร์ส ณ วันที่
14 มกราคม 2559 รวมแล้ว ผู้ป่วย 1,649 ราย เสียชีวิต 638 ราย โดยพบรายงานผู้ป่วยทั้งหมด จาก 26 ประเทศ ดังนี้
ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ เยเมน
เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์
ออสเตเรียตูนีเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้
จีนและไทย

                ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์
เรื่องการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง(
MERs)โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ชี้แจงนานาประเทศถึงสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุม
โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการในการรักษาตัวผู้ป่วย
ติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วยทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
และได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างครอบคลุมตามมาตรฐานสากล
ตลอดจนชี้แจงถึงความมุ่งมั่นของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
โดยกำชับให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ
ไม่ตื่นตระหนก และเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย
ตลอดจนดูแลรักษาสุขภาพและหาความรู้ในการรับมือกับโรคที่ถูกต้อง

โดยขอให้ประชาชนดำเนินการป้องกันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
โดยผู้ที่มีโรคประจำตัวควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด
ตลอดจนสังเกตอาการตนเองหากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด หากมีอาการไข้ ไอ
น้ำมูก หรือเจ็บคอ ภายในเวลา 14 วัน หลังจากเดินทางกลับ ขอให้พบแพทย์โดยทันที