กสิกรไทย ชูไอเดียเวทีประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน รวมพลังจัดตั้งมาตรฐาน Taxonomy กลไกเปลี่ยนผ่านธุรกิจเข้าสู่เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero Emissions
ในการประชุมดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit หรือ ABIS 2023) ที่จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ASEAN Centrality: Innovating Towards Greater Inclusivity” ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ผู้นำ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจทั่วโลกกว่า 2,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการเจรจากับฝ่ายภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงการเป็นตัวแทนสถาบันการเงินภาคเอกชนไทย เข้าร่วมงานการประชุมสุดยอดสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council Summit Week)
มีการจัดการเสวนา หัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future แลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) พร้อมเชิญชวนกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Decarbonization ในระดับภูมิภาคโดยการกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เช่น มาตรฐานที่ใช้ในการจำแนกเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ( ASEAN Taxonomy)
นอกจากนี้ ธนาคาร ยังได้เข้าร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ Decarbonizing Southeast Asia: Charting ASEAN’s Pathway to a Net-Zero Future เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง บทบาท แนวคิดของภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแรงขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อหาแนวทางการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้กับภาคธนาคารและลูกค้าทุกภาคส่วน คำนึงถึงการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระดับภูมิภาค
โดยแนวทางการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิด อื่นๆ สู่ชั้นบรรยากาศ หรือ Decarbonization ในกลุ่มประเทศอาเซียน ของแต่ละประเทศ ยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ความสามรถและศักยภาพในการปรับตัว ที่มีปัจจัยคือ การเงิน ความสามารถทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ แตกต่างจาก กลุ่มประเทศที่มีความพร้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศจีน จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกฎเกณฑ์ในระบบเศรษฐกิจ
“กลุ่มประเทศอาเซียนส่วนมากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความพร้อมที่แตกต่างกัน แต่ยังพึ่งพากันได้ดีผ่านการค้าและการลงทุน ด้วยมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN intra-trade) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 23% จึงมีเงื่อนไขระยะเวลาการปรับตัวแตกต่างกัน”
กลุ่มประเทศอาเซียนพยายามรวมกลุ่มในภูมิภาค เพื่อร่วมมือกันแสวงหาโอกาสใหม่ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Regional Progressive Dialogue) เพื่อสอดคล้องกับทิศทางการค้าและการลงทุนที่จะมีการจัดทำมาตรฐานการทำงานด้านการลดการปล่อยก๊าซ ทั้งในด้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ทั้งด้าน พื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน (Soft Infrastructure) เช่น การกำหนดให้มี ASEAN Taxonomy จะมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซในกลุ่มประเทศอาเซียน และยังทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในระดับเวทีโลกเช่นกัน
รายใหญ่รอดพร้อมปรับตัวล่วงหน้า SMEs ยังน่าห่วง
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของภาคธุรกิจในอาเซียน เรื่องการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Large Corporates) มีความสามารถในการปรับตัว และปฏิบัติตามกติกาในระดับนานาชาติได้อย่างทันท่วงที ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากร เทคโนโลยี เงินทุน และความรู้ ขณะที่กลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังไม่สามารถปรับตัวได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ต้องมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลและธนาคาร ในรูปแบบพหุภาคี (Multi Development Banks) เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดได้
และกลุ่มสุดท้ายในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ก็ต้องมีการผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ และสร้างแนวคิดที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการสร้างระบบคุณค่าใหม่ (New Value System) ที่จะคอยผลักดันให้SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ขับเคลื่อนสู่ผู้นำแบงก์ESGในอาเซียน
นายพิพิธ กล่าวในตอนท้ายว่า หากมีการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนร่วม ในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยตอกย้ำแนวคิดการทำงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ของธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธนาคารจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันลูกค้า ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Decarbonization ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารกสิกรไทยมีที่ตั้งอยู่ เพื่อให้เป็นตามนโยบายเป้าหมาย Net Zero Commitment ของแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต