ลุยสวน “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

ลุยสวน “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง


“มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ” คือสินค้า GI ของจังหวัดราชบุรี ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติหอมหวานเป็นอัตลักษณ์ และเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ

 

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาเกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิต เนื่องด้วยเน้นผลิตแบบผลสด จึงต้องเผชิญกับภาวะสินค้าล้นตลาดและมะพร้าวตกเกรดจากปัญหารอยช้ำระหว่างเก็บเกี่ยวและขนส่ง ทำให้ต้องขายในราคาต่ำกว่าทุนแก่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป หรือต้องทิ้งจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาขยะจากการผลิต (Food loss)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับสถาบันอาหาร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดทำโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจาก “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” ภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติคัดเลือกจังหวัดราชบุรีให้เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องการขับเคลื่อน และกำหนดให้มะพร้าวน้ำหอมเป็นหนึ่งใน “สินค้าเกษตรเป้าหมาย”

ดร.ยุวเรศ มลิลา ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร (IFBT) ไบโอเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอมของจังหวัดราชบุรี เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงมาก แต่ยังมีปัญหาเรื่องของสินค้าล้นตลาดที่มักเกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมที่มีผลผลิตจำนวนมาก รวมถึงผลมะพร้าวจำนวนมากที่ถูกคัดทิ้งเนื่องจากมีตำหนิเกินมาตรฐาน อีกทั้งในกระบวนการแปรรูปยังมีเศษเนื้อมะพร้าวและของเสียที่เหลือทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย โครงการฯ จึงมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี รวมถึงเทคโนโลยีการยืดอายุน้ำมะพร้าวน้ำหอม เพื่อถ่ายทอดให้แก่ชุมชน

“เราทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชนในพื้นที่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรให้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่มะพร้าวน้ำหอมได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำบนฐานของการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ปัจจุบันมีการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมหลายรูปแบบที่พร้อมถ่ายทอดให้แก่ชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากมะพร้าวน้ำหอมไทย ผลิตด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบขั้นตอนเดียว ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง COCOBIOTIC ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโพรไบโอติกพร้อมดื่ม ที่มีสี กลิ่นหอม รสชาติ และความซ่า คล้ายชาหมักคอมบุชา อุดมไปด้วยกลุ่มจุลินทรีย์โพรไบโอติก ช่วยในเรื่องระบบการย่อยอาหาร ผลิตภัณฑ์มะพร้าวหมักเลียนแบบโยเกิร์ตและโยเกิร์ตพร้อมดื่ม ที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีชีวิต จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกกลุ่ม Plant-based

“นอกจากอาหารยังมีผลิตภัณฑ์ผงน้ำมะพร้าวเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้กระตุ้นการสร้างสารสำคัญของพืชสมุนไพร เช่น บัวบก ในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งใช้กระตุ้นการงอกและการเจริญของเมล็ดพันธุ์ เช่น กะเพรา ผักกวางตุ้ง ผักชี สำหรับในส่วนของเทคโนโลยีการยืดอายุน้ำมะพร้าวน้ำหอม ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการแปรรูปอาหารออกแบบกระบวนการยืดอายุด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ กระบวนการแช่เยือกแข็ง กระบวนการสเตอริไลซ์ และกระบวนการ High-Pressure Processing (HPP) ทำให้สามารถเก็บรักษาน้ำมะพร้าวได้นานขึ้น 30 วัน ถึง 1 ปี (ขึ้นกับกระบวนการที่ใช้) โดยที่ผู้บริโภคยังยอมรับกลิ่นรสที่เป็นอัตลักษณ์ของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี”

ด้าน นิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารมีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนพัฒนาให้ผู้ประกอบการแข่งขันในตลาดโลก และพร้อมเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยหลังจากลงพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงาน ได้นำข้อมูลมาออกแบบกระบวนการทำงานและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปและมูลค่าสูง โดยเน้นใช้ประโยชน์จากมะพร้าวในทุกส่วน รวมทั้งยังจัดทำหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น เจลลีมะพร้าวผสมบุกคาราจีแนน น้ำมะพร้าวผสมน้ำสับปะรด ไอศกรีมมะพร้าวที่ใช้น้ำและเนื้อมะพร้าว

“นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาต่อยอดสินค้าร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Aromatic Farm โดยนำเศษเนื้อมะพร้าวอ่อน ซึ่งเดิมจะนำไปใช้ทำอาหารเป็ดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฟิลลิงเนื้อมะพร้าว สำหรับใช้เป็นองค์ประกอบกับอาหารอื่น ๆ เช่น ไส้ขนมปัง วัตถุดิบแต่งหน้าเค้ก ผลิตภัณฑ์ทาหน้าขนมคล้ายแยม ส่วนน้ำมะพร้าวก็นำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันมูลค่าสูง เช่น เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวกลิ่นเทอร์พีน นำสารสกัดกลิ่นเทอร์พีนซึ่งพบได้ในพืชตระกูลแคนนาบิส (Cannabis) หรือในกลุ่มกัญชาและกัญชงมาเป็นส่วนผสม มีประโยชน์ช่วยให้ผ่อนคลายและสดชื่น รวมทั้งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวผสมอินูลิน มีคุณสมบัติเป็นใยอาหารและพรีไบโอติก (Prebiotics) ช่วยให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารช้าลง มีส่วนช่วยให้อิ่มท้อง มีประโยชน์ต่อผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือจำกัดพลังงาน”

ส่วน นวลลออ เทิดเกียรติกุล Founder & CEO วิสาหกิจชุมชน Aromatic Farm กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการบอกได้เลยว่า มะพร้าวน้ำหอมถือเป็นผลิตภัณฑ์สุขสบายขายดีมากของจังหวัดราชบุรี แต่จะดียิ่งกว่าหากเติมนวัตกรรมเข้าไป เพราะจะกลายเป็นความยั่งยืน การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากมะพร้าวน้ำหอมราชบุรีเข้ามาตอบโจทย์ และเติมเต็มให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างมาก เพราะจากที่เรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เมื่อมีนวัตกรรมมาช่วยก็ทำให้เกิดรายได้เพิ่มและสร้างมั่นคงแก่สินค้าชุมชน

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานบูรณาการระหว่างเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกมิติ นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปช่วยส่งเสริมในพื้นที่อย่างเหมาะสม และสร้างความเข้มแข็งในด้านการพัฒนาปัจจัยการผลิตด้วยตนเองซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน

“จังหวัดราชบุรีเป็นตัวอย่างของจังหวัดนำร่องการขับเคลื่อน BCG และมีสินค้าเกษตรเป้าหมายหลากหลาย ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม กุ้งก้ามกราม โคนม อ้อย สุกร เกษตรอินทรีย์ ซึ่งโครงการจะสำเร็จได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ แต่อยู่ที่ความเข้มแข็งของเกษตรกรและการสนับสนุนของภาคเอกชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ดีการดำเนินการผลักดันขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญในทุกมิติ ทั้งในด้านการเกษตร การแปรรูป พลังงานทางเลือก และการท่องเที่ยว จึงจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับรายได้ให้เกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่ง สวทช. จะพยายามใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด”

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากมะพร้าวน้ำหอม สามารถชมผลงานวิจัยและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยติดตามรายละเอียดและลงทะเบียน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือโทรศัพท์ 0 2564 8000.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

นวัตกรรมทวารเทียมจากยางพารา สำหรับผู้ป่วยขับถ่ายทางหน้าท้อง
https://www.thaiquote.org/content/249807

“WasteShark” หุ่นยนต์ที่สามารถเก็บขวดพลาสติกได้ 21,000 ชิ้นในหนึ่งวัน
https://www.thaiquote.org/content/249798

สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในช่องว่างระหว่างรางรถไฟได้เป็นครั้งแรกของโลก
https://www.thaiquote.org/content/249788