ส.อ.ท.พบ “สมคิด”ยื่นสมุดปกขาว เสนอให้ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 32 บ./ดอลลาร์ และไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบกับเอสเอ็มอี เสนอให้รัฐสนับสนุนเงินประกันสังคมช่วยเหลือแรงงานเป็นการชั่วคราว
วันนี้ (19 ก.ค.62) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหารเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่นายสมคิดเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 และกลับมาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง พร้อมยื่นโยบายให้พิจารณาด้วย โดยนายสุพันธุ์ยืนยันว่ายังคงเชื่อมั่นในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ด้านนายสมคิดกล่าวขอบคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ยังให้ความช่วยเหลือประเทศมาอย่างต่อเนื่องให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ข้อห่วงกังวลของส.อ.ท.ในเรื่องการขายตัวของตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในประเทศ รวมไปถึงประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งสร้างความเชื่อมั่นอยู่ ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ
นายสมคิดกล่าวว่า ส่วนหนึ่งต้องดูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนกังวลเรื่องรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมจะไปต่อได้หรือไม่ ตนยืนยันว่า รัฐบาลผสมเป็นเรื่องปกติที่หลายยุคหลายสมัยเคยมี บางครั้งมีรัฐบาลพรรคเดียวก็ไปต่อไม่ได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้ตามปกติ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกในการบริหารเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหาแนวทางขับเคลื่อนนโยบายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายให้ดีขึ้นได้ รวมถึงจะใช้กลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ให้เกิดการประชุมร่วมหารือกันในการช่วยเหลือผลักดันเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ในการเข้าพบครั้งนี้ได้จัดทำสมุดปกขาวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น จะมีการขอให้พิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เป็นต้น
จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ อยู่ที่ระดับ 95.9 เนื่องจากความกังวลความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณชะลอตัวกระทบต่อการลงทุนและบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผล ด้านลบต่อการแข่งขันด้านราคาของภาคส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้าที่จะนำเข้าจากไทย ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นายสุพันธุ์กล่าวต่อว่า“ เมื่อมีรัฐบาลเข้ามาทำงานแล้ว สิ่งแรกจะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อพยุงวิกฤติเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ และควรออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้า เพื่อให้การส่งออกของไทยแข่งขันได้ โดยควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ”
สำหรับประเด็นการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศนั้น ในความเห็นของ ส.อ.ท.คิดว่า หากมีการปรับขึ้นจริงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจถึงขั้นประกาศปิดกิจการ เพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องจะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ จะกำหนดเป็นราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้ นอกจากนั้น ส.อ.ท.ยังเห็นว่า หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์คือแรงงานต่างด้าวซึ่งปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างด้าวถึง 3 ล้านคนทั่วประเทศ เมื่อได้รับค่าจ้างก็จะส่งเงินกลับประเทศตัวเอง ทำให้ค่าแรงส่วนนี้ไม่หมุนเวียนกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด
โดยทาง ส.อ.ท.เสนอว่า หากรัฐบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ภาคเอกชนอยากเสนอให้รัฐบาลช่วยนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนที่หักกับลูกจ้าง 2.75% ของเงินเดือนเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลสมทบอยู่แล้ว 5% ของเงินเดือน รวมรัฐบาลสมทบให้ลูกจ้างเป็น 7.75% ของเงินเดือน เป็นกรณีชั่วคราวหรือจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรืออาจสมทบเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนที่นายจ้างสมทบอยู่แล้ว 5% ของเงินเดือนก็ให้อยู่คงเดิม เพื่อช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของแรงงาน เพราะจะทำให้มีกำลังซื้อ ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แทนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ถือว่าเป็นการ พบกันครึ่งทาง รวมทั้งควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด.