สถาบันอัญมณีฯ ชี้! สงครามการค้า ทำบาทแข็ง ฉุดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 5 เดือนติดลบ 9.98% แต่ตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณดีกลับมาเป็นบวก 0.77% จีนยังสดใสต่อเนื่อง เพิ่ม 8.80% อินเดียแรงเกินคาดโต 50.37% คาดการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวสูง หลังสงครามการค้าเห็นทางออก พร้อมแนะผู้ผลิตปรับตัวเจาะตลาดรายกลุ่ม เน้นขายออนไลน์
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 5 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 4}605.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.98% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 145,264.11 ล้านบาท ลดลง 9.70% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 3}043.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.84% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 96,000.12 ล้านบาท ลดลง 2.51%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนของปี 2562 ปรับตัวลดลง มาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กดดันการเติบโตของการค้าโลก และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี ในเดือนมิ.ย.2562 ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนจาก Brexit ที่กระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน และล่าสุดนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงเหลือ 2.6% จากเดิม 3.3%
นางดวงกมลกล่าวว่า การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยกลับมาเป็นบวก 0.77% ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี โดยพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน แลเพชรเจียระไน มีการส่งออกสูงขึ้น และตลาดจีน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพิ่ม 8.80% โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นหลัก ขณะที่อินเดีย น่าจับตามาก เพิ่มขึ้นถึง 50.37% จากการส่งออกโลหะเงิน พลอยก้อน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนที่เพิ่มขึ้น อาเซียน เพิ่ม 19.86% จากการส่งออกเครื่องประดับเทียมไปยังสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นมาก และตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.45% จากเดือนก่อนลด 4.98% ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกัน
ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวติดลบ เช่น ฮ่องกง ตลาดอันดับหนึ่งของไทย ยังคงติดลบ 10.56% สหภาพยุโรป ลบ 7.13% ญี่ปุ่น ลบ 11.70% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลบ 26.35% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลบ 77.81% และอื่นๆ ลบ 2.58%
สำหรับภาพรวมการส่งออกเป็นรายสินค้า เครื่องประดับแท้ เช่น เครื่องประดับเงิน ลด 15.99% เครื่องประดับทอง ลด 6.68% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 3.61% เพชร ลด 6.94% เพชรก้อน เพิ่ม 4.58% เพชรเจียระไน ลด 7.43% พลอยสี เพิ่ม 16.28% พลอยก้อน เพิ่ม 225.96% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 8.73% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 12.26% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 9.50% โลหะเงิน เพิ่ม 102.66%
นางดวงกมลกล่าวว่า ล่าสุดสงครามการค้ามีแนวโน้มดีขึ้น หลังผู้นำสหรัฐฯ และจีน ตกลงที่จะร่วมกันหาทางออก ซึ่งหากมีความชัดเจน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าโลก และส่งผลดีต่อการส่งออกในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก จะต้องปรับตัว ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการที่เปลี่ยนไป โดยการเจาะขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มมิลเลนเนียล เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการทราบที่มาของวัตถุดิบ และเจาะตลาดทางออนไลน์ ที่กำลังเติบโตเพิ่มมากขึ้น
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
สถาบันอัญมณีฯเปิดเคล็ดลับ ตรวจพลอยแท้ พลอยปลอม