สสปน.คัด 8 ชุมชนนวัตวิถี ภาคเหนือ ส่งเสริมตลาดไมซ์

สสปน.คัด 8 ชุมชนนวัตวิถี ภาคเหนือ ส่งเสริมตลาดไมซ์


สสปน. ชวนเที่ยว 8 ชุมชนต้นแบบนวัตวิถีภาคเหนือ เปิดตลาดไมซ์เชื่อมจุดขายวัฒนธรรมสู่ตลาดต่างประเทศ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (สสปน.) เปิดเผยว่า สสปน. ต้องการขยายตลาดไมซ์ไปสู่ภูมิภาค จึงได้จัดตั้งหน่วยผู้เชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ขึ้นเพื่อขยายผลความสำเร็จจากโครงการ MICE CITY และเล็งเห็นว่าภาคีที่สำคัญของการทำงานภูมิภาค คือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเครือข่ายระดับชุมชนทั่วประเทศ และด้วยศักยภาพของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และสินค้า OTOP ซึ่งเหมาะแก่การส่งเสริมขยายการตลาดการเพิ่มลูกค้าไมซ์ไปสู่จัดกิจกรรมในชุมชน และนำสินค้า OTOP รวมถึงผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่นมาสู่กลุ่มลูกค้างานประชุม ทั้งในรูปแบบสินค้าที่ระลึก อาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ในกิจกรรมไมซ์

 

 

ทั้งนี้ สสปน. ได้พัฒนาช่องทางการตลาด ONLINE ไว้รองรับในชื่อ MICE Marketplace ที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสินค้าและชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชนได้ทันที โครงการความร่วมมือนี้ จึงนับเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษามาร่วมกันต่อยอดศักยภาพสินค้าและบริการชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขยายโอกาสทางการค้าและการตลาด ผ่านการเข้าร่วมงานประชุมและแสดงสินค้า รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเจรจาธุรกิจ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ในระดับพื้นที่

ด้าน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดดำเนินการ (นำร่อง) ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) โดยคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมจำนวน 8 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นพื้นที่ดำเนินการในปีแรก และพร้อมขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาค/กลุ่มจังหวัดอื่นๆ ต่อไปภายหน้า ประกอบด้วย

1. จังหวัดลำพูน ได้แก่ บ้านแพะ อำเภอบ้านธิ และ บ้านดอนหลวง อำเภอป่าซาง
2. จังหวัดลำปาง ได้แก่ ชุมชนท่ามะโอ อำเภอเมืองลำปาง และ บ้านแม่แจ๋ม อำเภอเมืองปาน
3. จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ บ้านโป่งกวาว อำเภอสะเมิง และ บ้านป่าตาล อำเภอสันกำแพง
4. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย และ บ้านป่าปุ๊ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

สำหรับของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดตลาดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีไปสู่ตลาดสินค้าและบริการสร้างสรรค์มูลค่าสูง และ ภาคีทั้ง 4 หน่วยงาน เชื่อมั่นว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดการค้าอีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจรากหญ้า จากมูลค่าตลาดไมซ์ของประเทศไทยอยู่ที่ 212,924 ล้านบาท โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศรวมทั้งสิ้น 34,267,307 คน จำแนกเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศจำนวน 1,255,985 คน ก่อให้เกิดรายได้ 95,623 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศจำนวน 33,011,322 คน ก่อให้เกิดรายได้ 117,301 ล้านบาท

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“กรมเจรจาฯ” ติวเข้มเกษตรกรอีสานล่าง ดันสินค้าสู่ตลาดโลกด้วย FTA