“ชาวสวนยาง”ยิ้ม ราคายางแผ่นพุ่ง 60 บาท หวังรบ.ใหม่ดันราคาตามสัญญา

“ชาวสวนยาง”ยิ้ม ราคายางแผ่นพุ่ง 60 บาท หวังรบ.ใหม่ดันราคาตามสัญญา


ฉุดไม่อยู่แล้ว “ชาวสวนยาง”ยิ้มรับราคายางแผ่นพุ่ง 60 บาท ส่วนน้ำยางสดทะลุ 50 บาทต่อกก. เหตุจากการส่งเสริมเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ดันราคาขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ แต่ยังหวังราคาพุ่งทะลุ 60 บาท ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์ยางพาราในปี 62 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ราคาน้ำยางสดมีการปรับตัวขึ้นมาตลอด

ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการด้านยางพาราของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เช่น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ที่นำน้ำยางสดไปทำถนนพาราซอยซีเมนต์ในหมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะทาง 300,000 กิโลเมตร เป้าหมายใช้น้ำยางสดประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อดูดซับปริมาณน้ำยางในประเทศออกจากตลาดนำไปสร้างสาธารณูปโภคให้มากขึ้น

นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ปัจจุบันราคาน้ำยางสดอยู่ในระดับ 50.00 บาท/กก. เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียพบว่าราคาน้ำยางสดของไทยสูงกว่า รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่ทำให้นักลงทุนอุตสาหกรรมยางโดยเฉพาะยางล้อเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางล้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าราคายางของไทยเคลื่อนไหวตามความต้องการใช้จริง ไม่ได้อิงการส่งออกตามตลาดต่างประเทศ

ด้านราคายางแห้ง ยางแผ่นรมควันและยางก้อนถ้วย เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก กยท. เข้าไปประมูลยางแผ่นรมควันที่ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ต่อเนื่องตั้งเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยซื้อในราคาที่เหมาะสมและชี้นำตลาด เพื่อนำไปขายให้โรงงานที่ยังต้องการซื้อเพราะปริมาณยางในตลาดลดลง

เนื่องจากผลผลิตยางถูกนำไปใช้แปรรูปในประเทศมากขึ้น ทำให้ราคายางแผ่นรมควันตลาดกลางปรับตัวสูงขึ้นจาก 40.00 บาท/กก. มาอยู่ที่ 55.00 บาท/กก. ส่วนราคาส่งออก FOB ท่าเรือกรุงเทพฯ ทะลุ 60.00 บาท/กก. ไปแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค.

สำหรับความคืบหน้าโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่รัฐบาลให้ กยท.เร่งช่วยเหลือเกษตรกรช่วงราคายางตกต่ำ ภายใต้งบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายเงินไร่ละ 1,800 บาท ให้เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท/ไร่ คนกรีดยาง 700 บาท/ไร่ สิทธิ์ไม่เกิน 15 ไร่/ราย ปัจจุบันจ่ายเงินเกิน 90% ของเป้าหมายแล้ว และคาดว่าจะจ่ายเงินได้ 100% ภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาราคายางระยะยาว กยท.ส่งเสริมให้ชาวสวนยางปลูกยางในพื้นที่เหมาะสมเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนการปลูกสูงผลผลิตต่ำ อีกทั้งปัจจุบันสินค้าเกษตรทุกชนิดจะแข่งขันกันที่คุณภาพ กยท.จึงต้องหายางพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตพร้อมหาวิธีการลดต้นทุน ผลักดันให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่ายางด้วยการแปรรูปและพัฒนานวัตกรรมยาง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ

“กยท. ส่งเสริมให้เกษตรกรนำยางดิบมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยียาง เพื่อประโยชน์ในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางที่ดีมีคุณภาพ ส่งขายทั่วโลก อันนี้คือแผนงานระยะยาวที่ กยท. ต้องสนับสนุนสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน นักวิจัยยาง และนักลงทุนที่ต้องมาบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน” รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าว

นางบัวลอย บุญกูล เจ้าของสวนยางพารากรีดเองบ้านม่วงค่อม ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ราคาตอนนี้ก็ดีขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น จาก 200-300 บาทต่อวัน เพิ่มมาเป็น 400-500 บาทต่อวัน อยากให้ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เหมือนที่รัฐบาลหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าได้ตามที่ประกาศไว้ก็จะดีมาก”

นายปิยภัทร โพธิภักดี เจ้าของสวนยางที่มีลูกจ้างกรีดยาง บ้านไร่อ้อย ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นถือว่าดีกว่าที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงนี้ที่ราคาเพิ่มขึ้น ชาวสวนต้องเจอปัญหาฝนตกทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ แต่ก็ทำให้ชาวสวนมีกำลังใจและพร้อมที่ออกไปกรีดยาง เมื่อเทียบกับราคาก่อนหน้านี้ที่ 38-40 บาทต่อกิโลกรัม

“ถามว่าพอใจหรือไม่กับราคาที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ ก็พอใจระดับหนึ่ง แต่ผมหวังและรอรัฐบาลใหม่ที่เคยหาเสียงช่วงเลือกตั้งว่าจะทำให้ราคายางพาราไปที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม” นายปิยภัทร กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. เผย มิ.ย. ยาง – ปาล์ม-มันฯ-กุ้ง ราคายังทรุด