สงครามการค้าทำส่งออกเม.ย.หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 2 มูลค่าต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขยายตัวติดลบ 2.57% ส่วนยอดรวม 4 เดือนยังติดลบ 1.86% เผยส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำกำลังซื้อหด สินค้าบางรายการอย่างรถยนต์ ผู้ซื้อหันไปซื้อรถไฟฟ้าแทน “บิ๊กตู่”สั่งถกร่วมภาคเอกชนทำแผนรับมือ นัด 29 พ.ค. ก่อน “สมคิด” จะประชุมร่วมทูตพาณิชย์ประเมินเป้าส่งออกปี 62 ใหม่ 31 พ.ค.นี้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2562 มีมูลค่า 18,555.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.57% โดยมูลค่าต่ำสุดในรอบ 2 ปีนับจากเม.ย.2560 ที่ส่งออกได้มูลค่า 16,861.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับจากเดือนมี.ค.2562 ที่ติดลบ 4.88% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,012.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.72% ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,457.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 80,543.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.86% การนำเข้ามีมูลค่า 79,993.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินดุลการค้า 579.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกไทยลดลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อและรุนแรงของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่เป็นตัวกดดันการค้าโลก รวมถึงมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกลดลงอย่างชัดเจน และยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าของประเทศต่างๆ ที่มีการออกกฎระเบียบเพิ่มมากขึ้น และการบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้าบางประเภท ไทยเริ่มสูญเสียตลาดให้คู่แข่งจากการไม่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ มียอดการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลง จากการที่ออสเตรเลียหันไปนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนและเยอรมัน และนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันลดลง ซึ่งแนวทางแก้ ไทยจะต้องเร่งหาหุ้นส่วนเพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภค ไม่เช่นนั้น ในอนาคตไทยอาจเสียตลาดได้
“แนวโน้มการส่งออกทั้งของไทยและอีกหลายๆ ประเทศ ยังคงไม่สดใส จากปัญหาสงครามการค้า และหากไทยต้องการผลักดันให้การส่งออกปีนี้ เสมอตัวหรือขยายตัวในระดับ 0% นับตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค.2562 จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 21,493 ล้านเหรียญสหรัฐ หากต่ำกว่านี้จะติดลบ แต่ถ้าสูงกว่า ก็จะขยายตัวเป็นบวก””น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในการรับมือกับสงครามการค้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ไปหารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบ และแนวทางที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ซึ่งได้กำหนดประชุมในวันที่ 29 พ.ค.2562 จากนั้นในวันที่ 31 พ.ค.2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ เพื่อประเมินเป้าหมายและทิศทางการส่งออกอีกครั้ง
ทั้งนี้ สนค. ยังได้ศึกษาผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% อีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน กว่า 1,500 รายการ เช่น เกษตร , อาหาร , เครื่องปรุงรส , น้ำตาล , น้ำผลไม้ , เสื้อผ้า , รองเท้า , ผ้าผืน , เครื่องประดับ , ของใช้ภายในบ้าน และสินค้าไลฟ์ไตล์ เป็นต้น ส่วนกรณีที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนแทนสหรัฐฯ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการส่งออกในเดือนเม.ย.2562 พบว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.7% ส่วนญี่ปุ่น ไม่ขยายตัว สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ติดลบ 5.2% ส่วนตลาดศักยภาพสูง จีน ติดลบ 5% ซึ่งติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อาเซียน เพิ่ม 0.9% อินเดีย เพิ่ม 3.4% ฮ่องกง เพิ่ม 0.5% เกาหลีใต้ ลด 0.6% ไต้หวัน ลด 1.2% และตลาดศักยภาพระดับรอง เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลด 2.5% ตะวันออกกลาง ลด 8.8% แอฟริกา ลด 1.7% ลาตินอเมริกา ลด 8.7% แต่สหภาพยุโรป 12 ประเทศ เพิ่ม 12.2% รัสเซียและ CIS เพิ่ม 6.6% แคนาดา เพิ่ม 2.7% ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ ลด 76.9%
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 3.9% โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 62.3% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 14% เครื่องดื่ม เพิ่ม 14.3% ทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 4.7% แต่ยางพารา ลด 32.1% ข้าว ลด 20.2% น้ำตาลทราย ลด 10.8% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 4.7% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 4.2% โดยสินค้าที่ลดลง เช่น ทองคำ ลด 56.9% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ลด 10.6% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 4% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลด 12.7% โดยเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 13.2% จากสภาพอากาศร้อน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เพิ่ม 17.5% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 23.9% นาฬิกาและส่วนประกอบ เพิ่ม 57.6% เป็นต้น