‘บอร์ดอีอีซี’ เคาะ ‘ซีพี’ ชนะประมูลไฮสปีด

‘บอร์ดอีอีซี’ เคาะ ‘ซีพี’ ชนะประมูลไฮสปีด


คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) รับทราบผลการเจรจาระหว่าง รฟท.-กลุ่มซีพี . โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมมีมติเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติการร่วมทุน 28 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการกับเอกชนที่ได้คัดเลือกโดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งพร้อมมีมติเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติการร่วมทุน 28 พ.ค.ก่อนลงนามในสัญญา 15 มิ.ย.นี้

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ใน EEC หรือ Thailand Genome Sequencing Center ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็น ให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ และให้สกพอ.ประสานหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการ Thailand Genome Sequencing Center จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ
2.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub
3.ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC โดยตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายในปี 2566 โดยเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน,นักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน ส่วนแนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ได้แก่กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล ,กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill ,กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“เจ้าท่า” ทดลองวิ่งเรือไฟฟ้าในคลองแสนแสบฟรี 2 เดือน