คู่แข่งสำคัญ มาเคาะประตูบ้าน ถึงเวลาต้องรับมือ!! ข้าวต้าหัวเชียงจีน-ข้าวพื้นนิ่มเวียดนาม ตีตลาดหอมมะลิไทยล้มทั้งยืน เหตุมีความนิ่มเหมือนกัน แต่ราคาถูกกว่ามาก นักวิชาการ แนะเกษตรกรไทย เร่งผลิตข้าวนุ่มพันธุ์อื่นๆ สู้…
วันนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเรามีพัฒนาการด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการพัฒนาในทุกด้านไล่ตามไทยแบบหายใจลดต้นคอเลยทีเดียว และหนึ่งในเรื่องที่เรากำลังจะถูกเบียดให้ตกชั้นไปก็คือ “ข้าว” ข้าวหอมมะลิไทยที่เคยได้ชื่อว่าครองโลก แต่ปัจจุบันพบว่าผู้นำเข้าเริ่มลดการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิไทย แล้วหันมาสั่งซื้อข้าวพื้นนิ่มจากเวียดนาม และพันธุ์ต้าหัวเชียงของจีนแทน โยเฉพาะจีน หากไทยไม่มีมาตรการรับมือ หรือพัฒนาข้าวพื้นนิ่มของไทยไปสู้ในตลาดโลก ในอนาคตอาจทำให้ตลาดข้าวหอมมะลิไทยถูกข้าวจากเวียดนามและของจีนช่วงชิงแย่งตลาดได้ เพราะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยมากครึ่งๆเลยทีเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของข้าวหอมมะลิไทยคือ ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาเรื่องความหอมที่ลดลงมาก ซึ่งจากการศึกษาแนวทางพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มของเวียดนาม และข้าวหอมมาลี อังกอร์ ของกัมพูชา ที่พัฒนาได้เร็วมาก และกำลังจะเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย หากไม่พัฒนาความหอมและคุณภาพกลับคืนมา ประเทศเพื่อนบ้านอาจพัฒนาข้าวขึ้นมาเทียบเท่ากับไทยได้ในที่สุด
กระทรวงพาณิชย์ แม่ทัพใหญ่ สั่งการกรมการค้าภายใน มอบหมายให้ศูนย์ฯ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าว เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมให้ชาวนาไทยได้ปลูกข้าวที่ตลาดต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในจีน ที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อข้าวหอมมะลิไทยลดลง และหันมาซื้อข้าวนิ่มเวียดนามและพันธุ์ต้าหัวเชียง กันมากขึ้น ยกเว้นในภัตตาคาร ร้านอาหาร และโรงแรม ที่ยังต้องการข้าวหอมมะลิไทย เพราะเป็นข้าวระดับพรีเมียม
แต่ที่กำลังเป็นที่น่ากังวลอยู่ในขณะนี้ คือมีการนำข้าวพันธุ์ต้าหัวเชียงของจีน ซึ่งมีความนิ่ม และมีความหอม ที่แม้จะหอมน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทยก็ตาม เข้ามาปลูกในประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อส่งออกไปตลาดจีน หรือตลาดอาเซียนอื่น ที่นิยมบริโภคข้าวพื้นนิ่มกันมาก เพราะข้าวพันธุ์ต้าหัวเชียงจะมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยถึง 50% เลยทีเดียว
เป็นที่น่าจับตาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเวียดนามทำตลาดเชิงรุกมาโดยตลอด ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวเวียดนามในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 เป็นร้อยละ 59.9 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่ข้าวไทยมีส่วนแบ่งการส่งออกลดลงจากร้อยละ 49.5 เหลือร้อยละ 39.6 เท่ากับลดลงร้อยละ 10 ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ จะทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศไทยจะลดต่ำลงเหลือ 8.6 ล้านตัน คือลดลงร้อยละ 14 ขณะที่เวียดนามจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าขยายตัวจากเดิมถึงร้อยละ 25 และในอนาคตจะส่งออกข้าวแซงหน้าประเทศไทยได้ในที่สุด
หากจะวิเคราห์ะสาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยสู้เวียดนามไม่ได้นั้นมี 10 ข้อก็คือ
1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเวียดนามสูงกว่าไทย โดยในปี 53/54 เวียดนามมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ส่วนข้าวไทยมีผลผลิตเป็นอันดับ 13 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของอาเซียน และยังมีผลผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
2. เวียดนามมีต้นทุนการปลูก และผลิตข้าวต่ำกว่าไทยถึง 16.5% แต่ได้กำไรสูงกว่าถึง 67
3. รัฐบาลเวียดนาม ส่งเสริมให้ชาวนาใช้นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดปริมาณเมล็ดให้เหมาะสมต่อพื้นที่เพาะปลูก ,ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งการเพิ่มผลผลิต ,เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15-20
4. ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวในอาเซียน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ขณะที่เวียดนามกลับส่งออกมากกว่าไทยแล้วถึง 23 เท่า
5. ราคาข้าวของเวียดนามถูกกว่าไทยอย่างมาก โดยเมื่อปี 2548 ราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 30 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยสูงขึ้นกว่า 123 ดอลลาร์สหรัฐ
6. เวียดนามใช้วิธีการทำการตลาดแบบทีมเดียว โดยรัฐจะเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนจะมีหน้าที่ส่งออก ซึ่งวิธีนี้ทำให้เวียดนามได้ตลาดนอกอาเซียนเพิ่มขึ้นหลายแห่ง
7. เวียดนามเน้นการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และพม่า เพื่อผลิตข้าวและแปรรูปสินค้าข้าว
8. รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างเต็มที่ ทั้งให้การอุดหนุนลดต้นทุนการผลิต ยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และตั้งกองทุนช่วยเหลือ
9. รัฐบาลเวียดนามบังคับให้พ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนา ต้องเหลือกำไรให้ชาวนาอย่างน้อย 30% ของต้นทุน และมีโครงการช่วยเหลือชาวนาด้านอื่น ๆ
10. รัฐบาลเวียดนามเร่งเพิ่มการลงทุนตลาดค้าข้าวในต่างประเทศ เช่น ในฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และพม่า
ทั้ง 10 ข้อด้อยที่กล่าวมานั้น นักวิชาการด้านข้าว จึงเสนอ 4 มาตรการสำคัญ เพื่อให้ไทยเร่งปรับตัว ประกอบด้วย 1. การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น 2. ลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ต่ำลง 3. มีการปรับปรุงทางการตลาด รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพ ให้มีความอร่อยและรสชาติต่างจากคู่แข่ง และสุดท้าย คือ 4. รัฐบาลต้องช่วยเหลือชาวนาให้อยู่รอดได้ โดยมีนโยบายช่วยเหลือให้ชาวนาได้กำไรจากการปลูกข้าวอย่างน้อย 30% ของต้นทุนการผลิตดังเช่นที่เวียดนาม
ขณะนี้สำหรับข้าวของไทยที่น่าจะแข่งขันกับข้าวพันธุ์นิ่มของเวียดนามได้ เช่น พันธุ์ กข 21 ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 600-700 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ซึ่งกรมการข้าวได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนเพาะปลูก ทั้งในฤดูกาลผลิตข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง ประมาณ 30,000 ไร่ คาดจะให้ผลผลิตลอตแรกปีนี้ประมาณ 21,000 ตัน โดยสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาด เพื่อจูงใจในการเพิ่มพื้นที่ปลูก และทำตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ไทยก็ต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวและที่สำคัญต้องรักษาคุณภาพมาตราฐานเอาไว้ให้ได้ตลอดไป เพื่อความเป็นจ้าวแห่งข้าวหอมมะลิไทย ชื่อนี้ที่ทั่วโลกยอมรับในคุณภาพ