โดย ธนชัย แสงจันทร์ เจ้าหน้าที่งานจัดการความรู้ และ สื่อสารสังคม สกว.
“อยู่ดี มีความสุข” เป็นคำจำกัดความแบบไม่เป็นทางการของแต่ละประเทศที่ต้องการให้ประชาชนในประเทศของตนได้รับ ทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาล และความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนัยยะในเชิงการขับเคลื่อนของ “ทุกภาคส่วน” มิใช่เพียงแค่ภาครัฐ แต่รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ที่จะใช้ความรู้และข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาไปด้วยกัน
ดังนั้นประเทศไทย น่าจะริเริ่มบทบาทความเป็นผู้นำในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในรูปของแนวพื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้านในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม) หรือกลุ่มประเทศ Sister City กับการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ สร้างความแข็งแกร่งและความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของทรัพยากร เพราะทั้ง 5 ประเทศที่กล่าวมา มีพื้นที่รวมกันราว 2 ล้านตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรรวมกันราว 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของอาเซียนโดยประมาณ (ทั้งขนาดพื้นที่และประชากร) และมีจีดีพีรวมกันประมาณ 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ ของประเทศอาเซียนรวมกัน
อย่างไรก็ดี การใช้ “เงินทุน” เข้าไปช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยองค์ความรู้ “อาวุธทางปัญญา” ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างกรณีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับสถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาวหรือ National Agriculture and Forestry Research Institute (NAFRI) ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ของปี2560 โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และ ดร.บุญถ่อง บัวโฮม อธิบดีสถาบัน NAFRI เป็นผู้ลงนามในความร่วมมือดังกล่าว
ซึ่งมีเป้าประสงค์ของความร่วมมือ เพื่อให้ 2 ประเทศ ยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตอาหาร ภายใต้ชุดความรู้จาการศึกษาวิจัย ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ จากกระบวนการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. และ การสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องของการวิจัย ผ่านทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) หรือ โครงการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอก
จากปี 60-62 นี้ ความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร เป็นไปในทิศทางที่ดี ในลักษณะของการร่วมกัน “สร้างองค์ความรู้” จากกระบวนการวิจัย ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการผลิตนักวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง การจัดการ การแปรรูป การตลาด ให้แก่บุคลากรของลาวที่จะผลักดันการใช้สายพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่เข้มแข็งและยั่งยืนของกลุ่มเกษตรกร ทั้งในส่วนของพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อาหารที่เหมาะสมต่อการเติบโต โดยที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เองและไม่พึ่งพิงอาหารสำเร็จรูป รวมถึงช่องทางการจำหน่ายในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โดย รศ.ดร อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะนักวิจัย ฝ่ายเกษตร สกว.
ในส่วนนี้ รศ.ดร อมรรัตน์ โมฬี อธิบายถึง รูปแบบการดำเนินงานว่า ทีมวิจัย ที่นำโดยตน และ นายฐานสมัย วรลาภ เจ้าหน้าที่ NAFRI ได้เริ่มดำเนินการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับอาจารย์ และ นักศึกษา จากแผนกปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยสุพรรณนุวงศ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ไก่พื้นเมืองอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ของการพัฒนา โดยการเข้าไปเก็บข้อมูลศึกษาสายพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมแก่การพัฒนา กระทั้งเกิดการต่อยอดโดยบริษัทเอกชน และ มหาวิทยาลัย สร้างสถานะความปลอดภัยให้กับไก่พันธุ์พื้นเมืองของประเทศ
เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังในเวทีระหว่างประเทศ การให้ความร่วมมือเพื่อช่วยพัฒนาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทย จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างกัน และร่วมกันสร้างความเจริญและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการเกษตร ดังนั้นการพัฒนาด้านการเกษตรร่วมกันจะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรวมถึงภูมิภาคอาเซียน มีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจในฐานะการเป็นแหล่งอาหารของโลกกับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ไก่” ซึ่งเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารทั่วไปในประชาคมอาเซียน
ขณะที่ ผศ.ดร.อรวรรณ ฉัตรสีรุ้ง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยและเพื่อนบ้านมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกัน ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับนักวิจัย ในศูนย์วิจัยการเกษตรบนที่สูง (UARC), แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้โครงการวิจัย “การผลิตสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์” เป็นเครื่องมือ ด้วยที่ผ่านมา พบว่า สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภคทั้งผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ ของไทย และลาว เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี สีสันและรูปร่างมีความสวยงาม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งยังเป็นพืช ระยะสั้นที่มีมูลค่าสูงและได้รับความนิยมในการบริโภคสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่าสตรอเบอร์รี่ เป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีระดับปริมาณสารพิษตกค้างสูงเกินค่ามาตรฐาน
สำหรับโครงการการผลิตสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์ เป็นโครงการที่มุ้งสร้างองค์ความรู้ทางด้านการผลิต รวมถึงการพัฒนานักวิจัย ให้มีความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น “พันธุ์ เทคนิค และตลาด” เพราะทั้ง 3 สิ่ง จะต้องมีการเตรียมความพร้อม ซึ่งหากมีการพึ่งพิงสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากภายนอกก็จะเกิดความล้มเหลวในการพัฒนา อย่างที่ไทยเคยประสบมาแล้ว ….และคนที่ได้ประโยชน์ คือ นายทุน