กว่าจะเป็น “แดง ดูลาเปอร์” นักปั้นกาแฟจากแม่ฮ่องสอน ดีกรีแชมป์ระดับประเทศ ใช้ความหลงใหลในรสชาดและกลิ่นของกาแฟ สร้างชื่อเสียงให้กับถิ่นบ้านเกิด ทวงคืนผืนป่า รักษาธรรมชาติ
สัมภาษณ์และเขียนโดย: บุษกร สัตนาโค
“จำได้ว่าสมัยก่อน กินกาแฟเท่าไหร่ รสชาดก็ไม่ถูกใจตัวเอง ก็เลยมาทำกาแฟเองซะเลย” บทเริ่มต้นสนทนาเรียบง่ายระหว่าง “แดง ดูลาเปอร์” กับ ESG UNIVERSE เริ่มขึ้น เมื่อถูกถามถึงอดีตก่อนที่เขาจะหันมาเป็นนักปั้นกาแฟ หรือที่ในวงการกาแฟเรียกว่านัก Process ซึ่งถ้าหากอธิบายให้เข้าใจง่ายก็หมายถึงนักพัฒนา แปรรูปเมล็ดกาแฟนั่นเอง และอีกบทบาทหนึ่งเขาก็ยังเป็นนักธุรกิจที่สร้างชื่อให้กับบ้านดูลาเปอร์ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็ก ๆ ของ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับ แดง ดูลาเปอร์ เป็นฉายาในวงการกาแฟของ “กิจชญานันท์ ชมสนุก” ซึ่งต้องบอกว่า เป็นหนึ่งในคนที่หลงใหลในกลิ่นและรสชาดของกาแฟมาก ๆ จนถึงขั้นมาลงมือลงแรงทำธุรกิจกาแฟเป็นของตนเอง ดังที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น ซึ่ง “แดง” เป็นชื่อเล่นของเขา ส่วน “ดูลาเปอร์” เป็นชื่อหมู่บ้านที่เขาเกิด
“เมื่อ 12-13 ปีที่แล้ว ผมเป็นคนชอบกาแฟมาก ก็เลยอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟ ตอนเริ่มต้นทำมาก็ไม่ได้ถูกใจตัวเองเลย อาจารย์ที่ผมเคารพก็เลยบอกว่าถ้าอยากทำกาแฟดี ๆ ต้องไปทำด้วยตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมขึ้นไปบนดอยต่างๆ เพื่อทำกาแฟ”
-ขึ้นไปบนดอยเพื่อทำธุรกิจกาแฟ
เขาเล่าต่อว่า ผมขึ้นไปบนดอยหลายที่ เพื่อที่จะสร้างฝันไว้ว่า วันหนึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะต้องเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อของประเทศไทยให้ได้ และต้องดังไปไกลถึงเวทีโลกสักวัน
โดยเริ่มทำแบรนด์แรกชื่อ “นามูระ” ที่แปลว่าหอมละมุนมาก ในภาษาปกาเกอญอ เริ่มต้นจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าไปสอนและให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในทุกขั้นตอนการผลิต และรับซื้อผลผลิตนั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ และอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น รวมถึงการสร้างสำนึกรักในบ้านเกิด ต่อยอดอุตสาหกรรมกาแฟในชุมชนเพื่อรวมกลุ่มสร้างเป็นกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมา สร้างงาน สร้างรายได้ ถือเเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้มีคุณภาพดี เพราะชุมชนมีรายได้ มีตลาดรองรับ
จากนั้นผมก็กลับมาที่บ้านดูลาเปอร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมเอง ความตั้งใจของผมคืออยากชวนชาวบ้านในหมู่บ้านของผมมาปลูกกาแฟ เพื่อดูแลป่าภายใต้แนวคิด “วิถีกาแฟเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม”
ผมจะเป็นคนแนะนำการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านดูแลรักษาป่าไม้ หรือธรรมชาติ
-ปลูกกาแฟแทนข้าวโพด ชาวบ้านถาม “ไม่ปลูกข้าวโพด จะให้ปลูกอะไร?”
ผมชวนชาวบ้านปลูกกาแฟ แทนการปลูกข้าวโพด ตอนนั้นจำได้ว่าชาวบ้านเขาถามผมว่า “ถ้าไม่ให้ปลูกข้าวโพด แล้วจะให้ปลูกอะไรล่ะ” แปลว่าเขาไม่มีทางเลือก ผมจึงเสนอไปว่า ปลูกกาแฟดีไหม? มีรายได้แน่นอน มีคนประกันราคาให้ด้วย
ชาวบ้านเขาก็เห็นด้วย ผมก็เข้าไปแนะนำตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ วิธีการเพาะปลูก การตัดแต่งกิ่งกาแฟ จนถึงการเก็บเมล็ด เข้าไปดูแลเยอะมาก
-ปลูกกาแฟ ดูแลป่า รักษาธรรมชาติ
เขาเล่าต่อว่า แนวคิดปลูกกาแฟที่บ้านดูลาเปอร์คือ กาแฟแต่ละต้นต้องปลูกในป่าธรรมชาติ เพื่อรักษาความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์ในป่า เพราะว่ากาแฟที่ปลูกในป่าผลผลิตออกมาคุณภาพดีมากกว่าปลูกในพื้นที่โล่ง เพราะบางครั้งกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่โล่ง พอโดนแดดจัด ใบแห้งลูกแห้งบนต้น ไม่ทันสุก หรือบางทีเจอฝนมาลูกก็แตก
กาแฟดูลาเปอร์จากหมู่บ้านดูลาเปอร์ ถือเป็นกาแฟจากแหล่งปลูกคุณภาพ บนความสูง 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากปลูกแล้ว เกษตรกรก็จะเป็นคนเก็บมาให้ผม เก็บตัวเมล็ดเชอร์รีที่มีสีแดงสุก จากนั้นนำมาล้าง มาตากเอง แปรรูปพัฒนาให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพ รสชาดอร่อย ผมทำเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟที่ดี
-หวานอมเปรี้ยว ชุ่มคอ เสน่ห์กาแฟดูลาเปอร์
กาแฟดูลาเปอร์มีจุดเด่นตรงที่เราใช้ Honey Process ซึ่งเป็นวิธีการตากกาแฟที่ยังมีเมือกของตัวกาแฟติดอยู่ ทำให้รสชาดมีความซับซ้อนและน่าค้นหา ให้กลิ่น ดอกไม้ ผลไม้เปรี้ยว หวานท้ายชุ่มคอ
“ช่วงแรก ๆ ยากมาก เพราะสมัย 10 กว่าปีก่อนไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาแฟเท่าไหร่ อาศัยการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง สมมติทดลองปีนี้ จะรู้ผลปีหน้า ผมทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นปี ๆ กว่าจะอยู่นิ่ง
แม้จะไม่มีทุนหนา แต่อาศัยทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ผมก็ให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านด้วยใจว่า จะทำให้กาแฟบ้านเราราคาสูงเท่าห้าง”
-ขายกาแฟรายได้ดีขึ้นส่งขายให้แบรนด์เล็ก-ใหญ่ทั่วประเทศ
ผลลัพธ์จากจุดเริ่มต้นดูลาเปอร์ รายได้เพิ่มขึ้น สมมติจากสิบบาท ผมทำให้ชาวบ้านขายได้ 20 บาท ทำมาเรื่อย ๆ ก็มีคนมาแนะนำว่า ที่บ้านนู้นกาแฟไม่มีราคา ไปช่วยหน่อย มันก็เลยได้ทำงานก้บชุมชนมากขึ้น จากบ้านนี้ไปบ้านนั้น จากทำหมู่บ้านเดียว ตอนนี้ผ่านา 10 ปี กลายเป็น 40 กว่าหมู่บ้านแล้ว มีเกษตรกรที่ร่วมกับผมน่าจะเกินพันกว่าราย ไปทั่วแม่ฮ่องสอน และรอยต่อเชียงใหม่บ้างแล้วจนมีโรงโรงสีของตัวเอง รองรับสีกาแฟและคัดแยกเมล็ดกาแฟให้สำหรับผลผลิตในพื้นที่ที่เข้าไปพัฒนากระบวนการปลูก โดยไม่จำกัดปริมาณการสีขั้นต่ำ ทำให้สามารถผลิตกาแฟสารชนิดพิเศษ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ และมีส่งเมล็ดกาแฟไปประกวดหลาย ๆ เวทีจนปีที่ผ่านมาผมได้แชมป์จากรายการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย (Thai Specialty Coffee Awards 2020) ด้วยกระบวนการ Honey Process
-ทุกกระบวนการอยู่ภายใต้หลัก Zero Waste
เกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายผม ไม่ใช้สารเคมี เพราะพูดตรงๆ คือไม่มีเงินซื้อ (แดง หัวเราะ) แต่ก็อยู่ในป่า เราก็สอนเขาทำปุ๋ยหมักเอง เพราะบ้านเขาก็เลี้ยงหมู เลี้ยงวัวกันอยู่แล้ว มันก็จะมีเศษวัสดุการเกษตร เราก็ให้เขาทำปุ๋ยหมักเอามาใส่ต้นกาแฟ หรือแม้แต่เปลือกกาแฟก็เอากลับมาทำปุ๋ยหมัก
“ทั้งหมดจริงๆ เป็น zero waste นะ ไม่มีของเสียเลย เปลือก กาก เอากลับมาเป็นปุ๋ยได้หมดเลย”
-โลกร้อนกระทบผลผลิตกาแฟแน่นอน
ส่วนลูกค้าก็มีส่งกาแฟไปให้ลูกค้าหลายประเภท ตั้งแต่รายเล็ก ๆ ที่เป็นโรงคั่ว ตลอดจนแบรนด์ใหญ่ ๆ กระจายทั่วประเทศ เป้าหมายก็คือทำต่อไป พัฒนาไปเรื่อย ๆ สถานการณ์โลกเดือดในแม่ฮ่องสอนตอนนี้กระทบบ้าง บางปีฝนไม่ตกผลผลิตก็น้อย แต่ส่วนใหญ่ถ้ากาแฟปลูกใต้ต้นไม้ผลกระทบค่อนข้างน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ปีที่แล้งจัดมีปัญหาเหมือนกัน กาแฟติดดอกน้อย ผลผลิตหายไปเยอะมาก ประมาณสองปีก่อน แต่ปีนี้ฝนเยอะจะเริ่มมีปัญหา ผลผลิตเสียบ้าง ลูกเน่าบนต้น ก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ากาแฟปลูกกับป่าอาจจะรับลผลกระทบน้อยกว่าพื้นที่อื่น ถ้าพื้นที่อื่นโดน 50% พื้นที่ในป่าอาจโดนแค่ 20%
-กลับพัฒนาบ้านเกิด
สุดท้ายแล้ว ความตั้งใจของผมคืออยากลบความคิดของการอยากออกไปทำงานของคนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ ต่อยอดอุตสาหกรรมกาแฟในชุมชนเพื่อรวมกลุ่มสร้างเป็นกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมา สร้างงาน สร้างรายได้
เป็นการร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้มีคุณภาพ พอเราทำได้ดีสุดท้ายคนในชุมชนก็จะอยู่ได้ เป็นแรงจูงใจในการรักษาป่า ดูแลธรรมชาติ เรียกว่าตอนนี้ผมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแหล่งปลูกกาแฟในพื้นที่หมู่บ้านดูลาเปอร์ ภายใต้แนวคิดวิถีกาแฟเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นกาแฟที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศตามความฝันที่ตั้งใจไว้
หมายเหตุ : สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวกาแฟดริปพันธุ์ไทย จาก 10 Coffee Master นักอนุรักษ์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กาแฟพันธุ์ไทย