ย่ามยายสิริ คุณค่าใหม่ จากของใช้พื้นบ้านธรรมดา สู่แฟชั่นที่ผสมผสานความยั่งยืนและทันสมัย ส่งเสริมความยั่งยืนผ่านวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ การใช้เศษผ้าให้คุ้มค่า และการจ้างงานกลุ่มสตรีผู้เปราะบางให้มีรายได้และกำลังใจ
ในโลกของการทำงานคราฟต์ในปัจจุบัน ความสามารถในการประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยมือและใจกลายเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งอาจารย์หน่อง สิริปตี พุ่มจันทร์ ได้เลือกเดินทางนี้เส้นทางแห่งศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการทำงานคราฟต์กับผ้าถอผืนถิ่น โดยเฉพาะการใช้ผ้าทอในท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์
จากฝีมือของคนท้องถิ่น และกลุ่มสตรีเปราะบาง ผ่านกระบวนการที่ออร์แกนิก ที่ให้ทั้งสุขและประโยชน์กลับสู่คนในชุมชน จากจุดเริ่มต้นของการรู้จักย่ามใบแรก และพบว่า ย่ามแต่ละใบ มีประวัติเรื่องราวและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน สู่ความคิดในการต่อยอดให้ย่ามสามารถสะพายคู่กับชุดพื้นบ้านได้ในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่ก็สวมใส่ได้ แบบดูทันสมัยและสวยงาม
ย่ามคืออะไร
อาจารย์หน่อง เริ่มต้นรู้จัก “ย่าม” จากการได้เป็นของขวัญในงานตรวจโรงเรียนและเยี่ยมสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับ “ของต้อน” ของต้อนรับ ที่คนอีสานเรียก อย่างผ้าทอและงานคราฟต์ในชุมชน แต่มักเก็บไว้เพราะตอนนั้นยังไม่สนใจผ้าไทย เพราะพึ่งจะเริ่มทำงานยังมีความรู้สึกว่า ผ้าไทยมันเชย ๆ เก็บใส่ตู้ แล้วก็แบ่งให้ผู้ใหญ่ในวาระขึ้นปีใหม่ สงกรานต์บ้าง
จนกระทั่งปี 2554 ได้ย่ามใบแรกจากสีคิ้ว และใบที่สองจากโรงเรียนนานาชาติที่เชียงราย เป็นย่ามอาข่า ซึ่งทั้งสองใบไม่เหมือนกันเลย
สิ่งนี้จุดประกายให้ค้นคว้าว่า “ย่ามคืออะไร” จนพบว่าย่ามเป็นงานคราฟต์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ บ่งบอกถึงเพศ ชนชั้น และวัฒนธรรม
“จนสุดท้ายเราก็หาข้อมูลจาก เพจคนสะพายย่าม และซื้อย่ามเป็นของตัวเองใบแรก ตอนนั้นเป็นย่ามถุงซิ่ว ที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่าถุง หรือ ถง และซิ่วแปลว่าสีเขียว ในราคา 80 บาท มีหางกระรอก ที่เป็นเส้นดายพันกันแต่งปลาย” อาจารย์หน่องเริ่มเล่า
อาจารย์หน่อง สิริปตี
จากอาจาร์ยสู่งานคราฟต์ ผ้าทอพื้นถิ่น
ในวัย 55 ปี อาจารย์หน่อง สิริปตี พุ่มจันทร์ ยังคงอุทิศตนเป็นอาจารย์พิเศษ และที่ปรึกษาให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านงานคราฟต์และการพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่เริ่มจากตัวเอง อาจารย์หน่องได้ก้าวเข้าสู่วงการผ้าทอพื้นถิ่นโคราช และพัฒนาจากผ้าทอมาเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ให้มีมูลค่าสูงขึ้น
จุดเริ่มต้นของการทำงานคราฟต์ของอาจารย์หน่องมาจากย่ามผืนเล็กๆ ที่เธอทำใช้เอง จากนั้นได้ขยายแนวคิดไปสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ ผู้ช่วยสำคัญที่แม้จะสูงวัยและไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ แต่ยังดูแลด้านการควบคุมคุณภาพ (QC) อย่างละเอียด หลังจากนั้น อาจารย์หน่องจึงได้ขยายกลุ่มผู้ผลิตไปยัง 32 อำเภอของโคราช เพื่อเชื่อมโยงช่างฝีมือในชุมชน
“สร้างมูลค่าในและแก้ปัญหาในเรื่องของผ้าไทยใส่สนุกว่า ไม่แก่ใส่แล้วดูสากล สามารถที่จะใส่ได้เป้น Unisex ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ตกแต่งด้วยงานปักมือลวดลายต่าง ๆ”
สู่แบรนด์ยายสิริ
ชื่อ สิริ มาจากชื่อจริง สิริปตี ซึ่งประกอบด้วยสองคำ สิริ ที่หมายถึงความดีงาม และ ปตี ที่แปลว่าบดี รวมความหมายเป็น ความดีงามที่ยิ่งใหญ่
“คนชอบมองว่าคนสะพายย่ามเป็นคนแก่ เราก็เลยนำคำว่า ยายมาใส่ เวลาไปออกบูธคนก็จะถามว่า คุณยายไม่มาหรอ เขานึกว่าคือชื่อคุณแม่เรา แต่จริงๆ แล้วคือเรานี้แหละ” (หัวเราะ)
พอเป็นภาษาอังกฤษ ก็ใช้คำว่า ใย ที่แปลว่าเส้นใยหรือความห่วงใย คือ Yai SiRi
“ยายสิริ” จากจุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน
เป้าหมายของ ยายสิริ ที่เริ่มจากความตั้งใจที่จะนำ ย่าม ซึ่งเป็นของใช้พื้นบ้านธรรมดามาสร้างคุณค่าใหม่ ผสมผสานกับความทันสมัยในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้คู่กับลุคแคชชวล (Casual Look) สะดวกสบาย ทะมัดทะแมง
“ทุกคนอาจรู้สึกสงสัยว่าแต่งตัวเป็นแคชชวล แต่ทำไมสะพายย่าม แทนที่จะเลือกใส่แบรนด์เนม ก็จะได้เห็นว่าเป็นความยั่งยืนอย่างจริงจัง (Sustainable) เพราะผ้าสามารถนำมาใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ เราจากไปแล้วแต่ผ้ายังคงอยู่”
จากสะพายย่ามคนที่เห็น ก็อยากให้เสื้อผ้าที่ใช้เป็นแบบเดียวกับย่าม จึงเป็นความคิดที่มาต่อยอดสู่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยการศึกษาวัสดุในท้องถิ่น เช่น เส้นฝ้าย ใยกล้วย หรือเถาวัลย์ เพื่อผลิตผ้าทอมือที่มีคุณภาพสูง พร้อมการนำเศษผ้าที่เหลือมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น พวงกุญแจและตุ๊กตา โดยเพิ่มมูลค่าด้วยการปักมือหรือเพนต์ลวดลาย
เป้าหมายต่อไปคือการสนับสนุนให้ผู้คนเลือกใช้ Slow Fashion ที่สะท้อนถึงคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่น และส่งเสริมการใช้เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความสวยงามและความยั่งยืนในระยะยาว
ผ่านเสน่ห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนางานคราฟต์ของยายสิริเริ่มจากการลองผิดลองถูก เช่น การปักมือที่เริ่มจากไม่เยอะจนกลายเป็นงานปักเต็มตัว โดยมีการปรับเปลี่ยนเทคนิคในชุมชน เช่น เปลี่ยนจากการใช้เส้นใยไหมประดิษฐ์มาเป็น เส้นฝ้าย 100% ที่ใช้เวลาทอนานกว่าเดิม และย้อมสีด้วยวัตถุดิบธรรมชาติจากพื้นที่ เช่น ใยกล้วย เปลือกมังคุด ใบมะม่วง ต้นมะม่วง และผงขมิ้น
“เส้นฝ้ายมันจะแข็งแต่พอเราใช้ไปนาน ๆ จะนุ่ม ถ้าเราไปดูเสื้อผ้าพ่อแม่ เราไปจับดูจะนุ่มมากๆ เลย เพราะผ่านฝน ผ่านร้อน ผ่านหนาว มายาวนานเป็นสิบปี เราจากไป แม่จากไป ผ้ายังอยู่ อาจจะมีรูมีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา แต่ความคงทนของผ้ายังอยู่ ถ้าเป้นเส้นใยธรรมชาติ 100% ซึ่งสีที่ซีดลง เป็นเอกลักษณ์ของผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติ แม้มีการเคลือบสีแต่ไม่สามารถคุมได้”
โดยเก็บมาจากที่ตกหล่น คือ ชุมชนมีอะไรเราก็ใช้ที่มี ไม่ได้ตัดหรือซื้อ ไม่ได้ทำลายธรรมชาติ กิ่งแต่ละมะม่วงก็มีสีที่ต่างกัน ซึ่งบางลูกค้าอยากได้สีเขียวแบบนี้ ย้อมอีกทีอาจจะได้อีกโทนนึง แต่ลูกค้าเข้าใจและรับได้ในตรงนี้
“เปิดรับพรีออเดอร์ แต่ต้องตกลงกันว่า เขารับได้กับเวลาที่เข้าต้องรอ และสีที่ไม่เหมือน และลายที่จะไม่ทำซ้ำ งานชิ้นนึงขึ้นอยู่กับลวดลาย และจำนวน แต่ปกติแล้วย่ามใบนึงใช้เวลาทำประมาณ 3-7 วัน”
ซึ่งช่วงขายดีคือช่วงปีใหม่ ที่คนหาซื้อของขวัญ บางช่วงมาแบบไม่รู้ตัว จากงานเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งคนโคราชเองก็เริ่มนึกถึงยายสิริแล้ว ถ้ามองเรื่องความยั่งยืน ก็จะสั่งของเข้ามา
ยกระดับด้วยหัวใจชุมชน
จากความสามารถของกลุ่มผู้เปราะบาง
จากการเริ่มต้นเล็กๆ ในปี 2561 จนกระทั่งจดทะเบียนร้านค้าในปี 2562 ผลงานคราฟต์ของกลุ่ม “ยายสิริ” กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรมผ้าทอพื้นถิ่นและความเข้มแข็งของชุมชนที่ผสานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ากับวิถีชีวิตอย่างลงตัว ผลิตภัณฑ์ของยายสิริได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในฐานะองค์กรที่สร้างความเสมอภาคให้กับสตรีผ่านงานฝีมือ
ยายสิริไม่เพียงแต่ผลิตงานคราฟต์ที่มีคุณภาพ แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน ตั้งแต่ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง เด็กพิเศษ สตรีในชุมชน ผู้ต้องขัง ไปจนถึงเด็กหญิงที่แต่งงานก่อนวัยอันควร ผ่านการสนับสนุนและสร้างรายได้เสริมจนพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ผลิตที่มีคุณภาพ
ในแต่ละพื้นที่ เช่น สีคิ้ว เนินไทย หรือไทยญวน ราชบุรี กลุ่มผลิตภัณฑ์ของยายสิริยังคงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชน เช่น ลวดลายเมียงนางดำ หรือผ้าทอพื้นบ้านที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรม ทุกชิ้นงานเริ่มต้นด้วยการเข้าไปคลุกคลีในชุมชน สอนงานจากต้นแบบ พร้อมเชื่อมต่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สมาชิก 52 คนสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในบ้านหรือชุมชนของตนเอง
ทำด้วยใจ ให้ด้วยสุข
รูปแบบการบริหารกลุ่มของยายสิริไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด แต่คือการสร้างความสุขทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค สมาชิกทุกคนไม่ได้รับเงินเดือนประจำ แต่จะได้ค่าตอบแทนจากงานที่ทำในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เช่น งานปักมือบาท จะถูกแบ่งสัดส่วนรายได้ให้คนปักมือ 2 คนได้รับ คนเดินเส้นได้ และเงินที่เหลือนำไปร่วมทำบุญกับมูลนิธิเพื่อนพึ่งพา
เมื่อขายได้ ผู้สร้างงานจะได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่มอีก เพื่อเป็นการคืนกำไร สร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้พวกเขามุ่งมั่นพัฒนางานที่มีคุณภาพมากขึ้น
“ค่าคอมมิชชันจากเรา เพื่อให้เราคืนรางวัลให้กับผู้สร้างผลงาน เพื่อให้เขาแข่งกับตัวเอง มีความสุขที่ได้ทำงานในปริมาณที่มากขึ้น แต่สวยขึ้น ๆ เขาก็จะทำงานอย่างมีความสุข Happy to do คนใส่ก็จะใส่งานที่มีความสุขด้วย”
เทคนิคลวดลายเอกลักษณ์
เทคนิคลวดลาย มาจากหนึ่งในเอกลักษณ์ของโคราชที่เป็นแมวโคราช และแมวก็เป็นสัตว์ที่ทุกคนหลงรัก ก็จะมีทั้งรูปแบบที่เหมือนจริง การ์ตูน ผ้าแต่ตัวรูปแต่รูปก็แต่งต่างกันคนก็จะเห็นว่าชอบแมวแบบไหน ใครเขาได้เลือก เขาก็จะรู้สึกว่ามีแค่ตัวเดียวไม่ซ้ำใครเป็นความภูมิใจที่เขาได้รับ
เศษผ้าก็มีคุณค่า นำมาต่อยอด
ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อาจารย์หน่องไม่ปล่อยให้ผ้าทอเหลือทิ้ง โดยการนำเศษผ้ามาประดิษฐ์เป็นพวงกุญแจและตุ๊กตา ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เพียงสร้างรายได้ แต่ยังสร้างความยั่งยืนและลดของเสีย กระบวนการผลิตยังให้โอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และแม่ในชุมชน โดยการนำผ้าทอพื้นถิ่นมาพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายร่วมสมัย ทำให้ผ้าท้องถิ่นมีคุณค่าและได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
ผ่านรับรางวัล Thailand Textile Industry Circular Track จากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งยืนยันถึงคุณภาพและความสามารถของชุมชนในการปรับตัวสู่วิถีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
เสื้อผ้ากลิ่นหอม
นวัตกรรมผ้าทอจากขวดรีไซเคิล
ยายสิริ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในการวิจัยและพัฒนาผ้าทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยนำนวัตกรรม Fragrant Fibers มาใช้ ซึ่งคล้ายกับกลไกของน้ำหอมในเม็ดพลาสติกที่ใช้ในรถยนต์ วิธีการคือการบดเม็ดพลาสติกให้เป็นของเหลว ผสมสารที่ช่วยลดกลิ่นอับและมีกลิ่นหอม จากนั้นนำไปสร้างเป็นเส้นใยสำหรับทอผ้า
คุณสมบัติเด่นของผ้าทอชนิดนี้ คือ ลดกลิ่นอับชื้น เหมาะสำหรับคนที่ตากผ้าในร่ม เช่น นักศึกษาและ กระจายกลิ่นหอมเมื่อมีการขยี้ผ้า โดยเน้นกลิ่นลาเวนเดอร์ ซึ่งช่วยลดความเครียด
ในขั้นทดลอง ผ้าทอไล่ยุง ได้รับการพัฒนาเป็นตัวต้นแบบสำเร็จแล้ว แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดในวงกว้าง ขณะนี้จึงมีการเปลี่ยนแนวทางไปสู่การผลิตผ้าทอลดกลิ่นอับที่ผสมกลิ่นหอม ซึ่งใช้วัตถุดิบรีไซเคิลจากขวดน้ำดื่ม ทำให้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการผสานนวัตกรรมเข้ากับความยั่งยืน
ส่งต่อหัตถกรรมสู่คนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจกับผลงานของ “ยายสิริ” โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานด้านศิลปะ ทั้งในรูปแบบงานหัตถกรรมดั้งเดิมและการประยุกต์เข้าสู่สื่อดิจิทัล เช่น อาร์ตทอยและ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งบางกลุ่มยังได้นำผลิตภัณฑ์ของยายสิริไปผสมผสานในผลงานด้วย นอกจากนี้ เวิร์กช็อปที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาลองปักพวงกุญแจ ยังได้รับความสนใจอย่างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างงานหัตถศิลป์และความคิดสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน
ยายสิริมีหน้าร้าน 2 แห่ง ได้แก่
- โคราช – จุดเริ่มต้นของแบรนด์
- เยาวราช (ร้าน Culture Connext) – แหล่งรวมงานคราฟต์จากทั่วประเทศ ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)
นอกจากนี้ยังมีโรงรถบ้านพัก ที่ยังคงใช้เพื่อแสดงสินค้า ตั้งแต่ในช่วงแรกเริ่ม และช่องทางติดต่อออนไลน์ เพจ YaiSiRi