มิชลินเผยกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืน อายุยืนยาวได้ 135 ปี ฝ่าโจทย์ท้าทายใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ในวันที่โลกร้อน ซากยางล้นโลกสองพันล้านเส้นต่อปี เปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า ออกแบบนวัตกรรมผลิตกู้วิกฤตโลกร้อน คืนชีวิตให้ยางใหม่ เก็บกลับผลิตใหม่ ค้นพบแกลบ จากเมล็ดข้าวทนทานแทนทราย ตั้งเป้า 40% รีไซเคิลยางในปี 2030
ปัญหาซากยางรถยนต์ ทับถมเป็นภูเขาขยะกองใหญ่บนโลกของเรา ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ บางส่วนหลุดไปในทะเล คาดการณ์จำนวนการทิ้งยางรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน (End-of-Life Tires -ELTs) ทั่วโลกมีมากถึงปีละ 1-2 พันล้านเส้น และกองขยะจากยางรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วตามปริมาณการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงปล่อยให้โลกเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ นั่นทำให้กฎหมายต่างๆ เริ่มทยอยออกมาให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกำจัดผลิตภัณฑ์
โดยเฉพาะในยุคที่โลกขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน คิดผลิตหรือทำอะไรต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรที่เหลือน้อยไม่เพียงพอต่อประชากรบนโลกกว่า 8,000 ล้านคน เมื่อทรัพยากรเหลือน้อย มลพิษเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตยางจึงต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อยางที่หมดอายุการใช้งาน เมื่อผลิตแล้วก็ต้องเก็บกลับ หรือนำไปทำอย่างอื่นที่ไม่ปล่อยให้เป็นขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คิดหาหนทางพัฒนาวงจรชีวิตใหม่ให้ล้อยางที่ใช้แล้ว ไม่ตายเหลือแต่ซากเป็นกองขยะ ออกแบบการนำซากยางรถยนต์เก่ากลับมามีชีวิตใหม่
ไม่เพียงแก้ไขปัญหาให้กับโลก ยังเปิดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้นำรีไซเคิลได้ สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทรัพยากรไม่มีวันหมดไปจากโลก
เมื่อผู้ผลิตพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ยอมรับในชื่อเสียง เป็นแบรนด์ที่คนจงรักภักดี ได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้าในระยะยาว เชื่อใจได้ว่าแบรนด์นี้ทำธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกไม่ทำร้ายสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ผู้ผลิตต้องออกแบบการผลิตรับแก้โจทย์โลกร้อน
ซีริลล์ โรเฌต์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ของมิชลิน (Cyrile Roget) Scientific & Innovation Communication Director, Michelin Group) กล่าวถึงความท้าทายของการผลิตในยุคหน้า ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีบทบาทช่วยลดปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ (Climate Change) ด้วยการปรับกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) โดยเฉพาะผู้ผลิตยาง จะต้องแก้ไขปัญหาขยะยางรถยนต์ เพราะทุกปีจะมียางรถยนต์ถูกทิ้งทั่วโลกถึงปีละ 1,000-2,000 ล้านเส้น หรือ คิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 30 ล้านตันต่อปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาระบบรีไซเคิลยาง ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากกระบวนการบำบัดทางเคมีที่เรียกว่าการบ่มหรือการวัลคาไนซ์ ทำให้ยางทนต่อสารเคมีและความร้อน จึงยากในการนำไปสู่การรีไซเคิล จึงต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เปลี่ยนยางเก่าให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับการผลิตยางใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยอมรับในแบรนด์มากขึ้น เมื่อมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ในยุโรป หลังการเปิดตัวยางเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น 4-5 เท่า
“ขยะจากยางเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นจึงต้องการโซลูชัน ที่เป็นนวัตกรรมใหม่และแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อความยั่งยืน ต้องพัฒนาวงจรชีวิตทั้งหมดของยางและการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลใหม่ๆ ที่ช่วยลดขยะจากล้อยางและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
มิชลินจึงต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตที่มีการวัดผลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานยุโรป 16 ข้อ โดยผสมผสานกับเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์การพัฒนายางในยุคต่อไปจะต้องมีส่วนผสมของ การรีไซเคิล ควบคู่กับวัสดุจากธรรมชาติ ตลอดจนลดการใช้น้ำ ลดการใช้ทรัพยากร มีเป้าหมายใช้วัสดุจากธรรมชาติจาก 21% ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 40 % ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และวางเป้าหมายนำวัสดุจากธรรมชาติ และรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเพิ่มเป็น 100% ภายในปี 2050 เป็นปีเดียวกับที่วางเป้าหมายสู่การการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)
วัสดุจากธรรมชาติ โอกาสเกื้อกูลซัพพลายเชนท้องถิ่น เอเชีย
ภูมิภาคเอเชีย เป็นฐานการผลิตยางจากธรรมชาติสัดส่วนถึง 85% ของทั้งโลก การพัฒนายางจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน อีกทั้งยังเพิ่มการพัฒนาออกแบบการใช้วัสดุยั่งยืน และหมุนเวียนนำยางเก่ามารีไซเคิล มีการคิดค้นออกแบบส่วนผสมมาจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบจากข้าว ความแข็งแรงทนทานสามารถทดแทนทรายได้ ด้วยการสกัด ซิลิกา (Silica) วัสดุทีมีลึกเปลือกแข็งที่หาได้ง่าย ทำมาจากเปลือกข้าว หรือ แกลบ และยังช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในท้องถิ่น จึงถือเป็นความยั่งยืนร่วมกันทั้งห่วงโซ่ (Supply Chain)
“มีการคิดค้นวัสดุหมุนเวียนและวัสดุรีไซเคิล ที่จะต้องมีความยั่งยืนทั้งซัพพลายเชน จึงคิดค้นวัสดุทดแทน ซิลิกา สกัดได้จากแกลบข้าว ผลพลอยได้จากการผลิตข้าว วิธีการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดความหมุนเวียน แต่ยังสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ที่สร้างมูลค่าให้วงการข้าว ชาวนา เกษตรกร”
เปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ EV โดยไม่ทิ้งสันดาป
นอกจากนี้ จะต้องออกแบบยางรถยนต์ให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค รองรับการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV)ในอนาคต โดยแก้ไขปัญหาข้อจำกัดรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่เก็บกับพลังงานไฟฟ้า และต้องทนทานมากขึ้น คาดว่าอัตราการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสัดส่วน 10-12% ภายในปี 2030 ดังนั้นจะยังมีสัดส่วนผู้ใช้รถยนต์สันดาป ซึ่งยางรถยนต์ที่ผลิตรองรับEV ได้ และยังเป็นล้อยางที่ใช้งานกับรถยนต์สันดาป การใช้งานในรูปแบบเดิมได้อีกด้วย
“เทคโนโลยีการพัฒนาล้อยางเพื่อใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ได้พัฒนามาก่อนหน้านั้นเป็นเวลากว่า 30-40 ปี เพื่อให้รองรับกับการใช้งานก่อนที่ EV จะกลายเป็นกระแสหลัก สะท้อนถึงการวางแผนวางวิสัยทัศน์ล่วงหน้าในระยะยาว”
นอกจากนี้ ยางมิชลิน ยังมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อย CO2 ในการขนส่งทางทะเลผ่านการทดลองใช้ไฮโดรเจนและใบเรือแบบพองลม เพราะพลังงานไฮโดรเจน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญต่ออนาคต รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกใน ขอบเขตที่ 3 (Scop3) ซึ่งเกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ที่ทำงานด้วย เป็นการช่วยพัฒนาระบบนิเวศวงจรชีวิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ร่วมทุนสตาร์ทอัพ ค้นธุรกิจผลิตนวัตกรรมยั่งยืน
มิชลิน ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ตั้งแต่ บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงสตาร์ทอัพขนาดเล็ก เพื่อร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Bio Butterfly และความร่วมมือกับ Carbios และ Resicare
“มิชลินต้องการพัฒนาการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แบบองค์รวม ผ่านการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน ในยานยนต์ทุกประเภท ตั้งแต่ กระบวนการผลิต การนำมารีไซเคิลเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน เพื่อเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
3 ปัจจัย มิชลิน เผชิญโจทย์ท้าทายอุตสาหกรรมยานยนต์
มานูเอล ฟาเฟียง (Manuel Fafian), ประธานกลุ่มมิชลิน ประจําภาคพื้นเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย กล่าวถึง แนวคิดการพัฒนายั่งยืนว่า ในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง จาก 3 ปัจจัย คือ 1.ผู้ขับขี่ต้องการเทคโนโลยีและการอำนวยความสะดวกใหม่ ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น 2.ล้อจะต้องรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ จากพลังงานใหม่ และมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการรองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น 3. การรองรับวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืน
ด้วยความความเชื่อของมิชลิน ที่มองว่า ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ เกิดจากความก้าวหน้าในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีคู่กัน จึงช่วยทำให้โลกยั่งยืน ดังนั้นมิชลิน จึงมุ่งเน้นการคิดค้นวิจัยและพัฒนาวัสดุส่วนประกอบการผลิตที่มีพื้นฐานจากทั้งทางวิศวกรรมและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประกอบจึงมีการพัฒนาสิ่งที่ดีไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อนำมาช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลก
3 เสาหลัก PPP เพื่อโลกสมดุล
มิชลินได้วางกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยการวาง 3 เสา หลักที่ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย คน (People) การสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ (Profit) และการอนุรักษ์ใส่ใจดูแลโลก (Planet)
“มิชลินได้สร้างวัสดุที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและสร้างประสบการณ์ การพัฒนาคอมโพสิตพอลิเมอร์ ตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี จนมีการเติบโตและเป็นผู้เชี่ยวชาญในวัสดุ จึงใช้ความรู้ความเข้าใจของจุดแข็งในการเชี่ยวชาญด้านวัสดุผสมโพลิเมอร์ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูง ให้กับอุตสาหกรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมทั่วไป อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ พลังงาน และการดูแลสุขภาพ”
ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาวัสดุทางด้านวิศวกรรมที่ช่วยในการขับเคลื่อนยานยนต์ จึงต้องทำให้โลกและชีวิตผู้คนดีก้าวไปข้างหน้าได้ดีขึ้น จึงผสมผสานวัสดุโพลิเมอร์
ในด้านคน ความยั่งยืนทุกส่วนของมิชลิน จะต้องมีนวัตกรรม ที่มีความใส่ใจ และสร้างผลกระทบที่ดีให้กับชีวิตคน สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการผสมผสานความหลากหลายในความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นธรรม มีสุขภาวะที่ดี มีโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา
แรงส่งนวัตกรรมยั่งยืน ทำกำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 15 ปี
ทางด้านผลกำไร ตลอดระยะเวลา 15 ปี มีกำไรเพิ่มขึ้นสองเท่า สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัสดุ จะนำไปสู่ผลตอบแทนที่บรรลุเป้าหมาย และยังขยายไปสู่การเพิ่มการการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งในการผลิต การขนส่ง และมีส่วนในการฟื้นฟูทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจน พัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ทางด้านการสร้างประโยชน์ให้กับโลก และสิ่งแวดล้อม มิชลินได้ให้คำมั่นถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงรุก โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ทั้งหมดจึงถือเป็นส่วนประกอบทั้ง คน กำไร และ สิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน โดยมิชลินมีส่วนในการส่งต่อโลกให้คนรุ่นถัดไป
ความเป็นมิชลิน
135 ปี แห่งนวัตกรรม
มิชลิน (Michelin) เป็นบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 135 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี 1889 (พ.ศ.2432) โดยสองพี่น้อง เอดูอาร์ (Édouard) และ อังเดร มิชแลง (André ตั้งอยู่ในเมือง แกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่นั้นมา มิชลิน ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด
มิชลินเป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมมาโดยตลอด จากช่วงแรก ได้พัฒนายางที่สามารถถอดออกใช้กับจักรยาน ถือว่าเป็นสิ่งที่ล้ำที่สุดในยุคนั้น ต่อมาในปี 1891 ( พ.ศ.2434) มิชลิน ได้พัฒนายางที่ถอดออกสำหรับใช้ในรถยนต์ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมยางรถยนต์
ในปี 1946 ( พ.ศ.2489 ) มิชลิน ได้พัฒนาเทคโนโลยีเรเดียล ยางมีน้ำหนักเบาลง แข็งแรงขึ้น และมีประสิทธิภาพในการขับขี่มากขึ้น จนถือเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั่วโลก
ในปี 1992 (พ.ศ.2535 )มิชลิน ได้เปิดตัวยางประหยัดพลังงานรุ่นแรก และในปี 2017 (พ.ศ. 2560) ได้เปิดตัวยางไร้อากาศจากต้นแบบ Michelin Twill และ Aptis
มิชลินได้ขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การบิน การก่อสร้าง และการแพทย์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุคอมโพสิตโพลีเมอร์ เป็นตัวนำในการผลิตชิ้นส่วนประกอบให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้ มิชลิน ยังได้ชื่อเป็นผู้สร้างประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต จากการเปิดตัวคู่มือ Michelin Guide หนังสือแนะนำร้านอาหารและโรงแรมที่ดีที่สุดทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปี 1900 (พ.ศ. 2443)
การเดินทางของมิชลินเป็นที่ยอมรับในด้านนวัตกรรม และการตระหนักถึงการวางกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืน ที่ชัดเจน ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนทุกรุ่น แม้กระทั่งการวางแผนเพื่อคนรุ่นต่อไป โดยวิสัยทัศน์ของ “ฟลอรองต์ เมเนโกซ์” (Florent Menegaux) ประธานกลุ่มมิชลิน ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่ทำให้มิชลิน อยู่ยาวนานมากกว่า 135 ปี
“ความยั่งยืนเกิดจากพลังแห่งนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการขับเคลื่อนสร้างประวัติศาสสตร์มายาวนานจนถึงปัจจุบัน กล้าเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อรองรับวิถีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของชีวิตคน”