เปิดตัวสถานีแยกขยะ ‘ชุมชนซอยพระเจน’ เขตปทุมวัน ต้นแบบส่งเสริมชุมชนแยกขยะต้นทาง ผลคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ช่วยลดขยะกว่าพันกิโลกรัมต่อวัน สร้างรายได้หมุนเวียนกลับสู่ชุมชนกว่าสองหมื่นบาทในช่วงเวลา 3 เดือนของการเริ่มโครงการ
ปัญหาขยะล้นเมือง เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากขยะไม่ได้รับการคัดแยกหรือทิ้งถูกที่ถูกทาง ก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม กระทบถึงสุขภาพของผู้คน
ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีศาลปู่ฉัตรแก้ว และพ่อปู่ปันยี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความเชื่อ และศรัทธา ต้องการปกป้องรักษาชุมชนให้น่าอยู่ จึงทำให้ เป็นต้นแบบของชุมชนในกรุงเทพฯ ที่สามารถสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน มีแผนอย่างเป็นรูปธรรม จัดตั้ง ‘สถานีแยกขยะชุมชน’ ซอยพระเจน เปิดให้บริการตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการขยะครบวงจร ตั้งแต่ในครัวเรือน เพราะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ การแยก การเก็บ และการขายขยะรีไซเคิล ที่สามารถทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการคัดแยกขยะขาย นำไปเป็นเงินหมุนเวียน ช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส จึงทำให้ได้รับความสนใจจากพันธมิตรภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุน ภายใต้โครงการของกลุ่มมาหามิตร เกิดความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กร ได้แก่ อลิอันซ์ อยุธยา, Waste Buy Delivery โดยสถานีรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ, ถุงขยะแชมเปี้ยน (บริษัท ดานูเดช อุตสาหกรรม จำกัด) และ Khaya (โดย Jak Reward Technology)
ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่มุ่งหวังลดปริมาณขยะส่งไปหลุมฝังกลบในชุมชน โดยส่งเสริมให้มีรายได้จากการคัดแยกขยะ
จากจุดเริ่มต้นโครงการขยะแลกไข่ไก่
สู่สถานีคัดแยกขยะในชุมชน
ด้าน สุรีพร จันทรประสาท ประธานกรรมการชุมชนซอยพระเจน เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นจากต้องการเข้าไปแก้ไข เพราะเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อขยะพลาสติกไหลรวมไปสู่ปลายท่อจนเกิดการอุดตัน จึงดึงให้คนเข้ามาสนใจร่วมกันจัดการขยะ เพราะเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งชุมชน จึงนำไปสู่การคิดหาวิธีแก้ปัญหา เริ่มต้นจากโครงการนำขยะแลกไข่ไก่ ซึ่งโครงการได้รับความสนใจจึงทำให้มีขยะเข้ามาในปริมาณมากกว่าพื้นที่เก็บ แม้มีการส่งไม้ต่อให้รถรับซื้อนำไปรีไซเคิลแต่ขยะก็เพิ่มพูนเพราะไม้ต่อมารับไม่สม่ำเสมอ จนคนในชุมชนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก็บไว้ในครัวเรือน บางส่วนหากมีจำนวนมาเกินไป ก็ต้องตัดสินใจทิ้ง
กระทั่งรู้จักกับโครงการ Waste Buy Delivery ที่นำขยะที่แยกเก็บไว้ในบ้านมาขายต่อได้ โดยมีหัวเรือใหญ่ พันธมิตร อลิอันซ์ก่อตั้งสถานีคัดแยกขยะเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในชุมชน เพราะให้มีรายได้จากการขยายขยะกลับมาสู่ชุมชน นำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ
“โครงการเป็นสิ่งที่ดี แต่เกิดปัญหาระหว่างทาง ชาวบ้านไม่แยกขยะแล้วทำความสะอาดให้ดี เราก็จะไม่ซื้อ ชาวบ้านจึงนำขยะไปขายต่อให้ผู้รับซื้อที่อื่น ที่ให้ราคาที่ถูกกว่าและนาน ๆ มาที พอเกิดการสะสมขยะมาก ๆ เพิ่มพูนเก็บไว้ในครัวเรือน ขยะที่เก็บไว้จึงต้องต้องทิ้งบางส่วน”
ที่ผ่านมา เริ่มโครงการภายใน 3 เดือน สามารถลดจำนวนขยะไปบ่อฝังกลบได้มากกว่า 6.4 ตัน เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 12,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับ ลูกฮิปโป หรือ หมูเด้ง 230 ตัว สามารถสร้างรายในชุมชนจากการขายขยะรีไซเคิลได้มากกว่า 26,000 บาท
ขยะมีมูลค่าจริง?
Waste Buy Delivery
รับซื้อขยะทั่วกรุง
และปริมณฑล
ขณะที่ ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท เวสท์บาย เดลิเวอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการสนับสนุนโครงการ และได้มีการสร้างแอปพลิเคชันรับซื้อขยะ สำหรับ Waste Buy Delivery คือ การจูงใจให้ชุมชนแยกขยะ ด้วยการมารับซื้อขยะถึงที่ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยรับซื้อขยะหลายประเภท พร้อมให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องการแยกขยะ แยกอย่างไรให้ขายได้ราคาดี ในปัจจุบันกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ จึงเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งภายในแอปมีราคาระบุตามขยะแต่ละประเภท เมื่อนำมาขายจะได้รับเงินสด และได้สะสมแต้มแลกรับของรางวัล
ลดภาระจัดการขยะกทม. 20 ล้านบาทต่อวัน
ดร.อิทธิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีขยะเฉลี่ย 1 วัน 8,600 ตัน มีค่าการจัดเก็บหนึ่งวันเฉลี่ย 20 กว่าล้านบาท จึงตั้งโจทย์จะทำอย่างไรที่สามารถลดเงินที่ใช้ในส่วนนี้จากภาษีของเรา ซึ่งการคัดแยกขยะและนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดปริมาณในการจัดเก็บขยะลงไปได้มหาศาล อีกทั้งบ่อขยะที่ต้องฝังกลบก็จะไม่เต็ม รถขยะก็จะลดลงและไม่วิ่งให้เกิดฝุ่น PM2.5 กระทั่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะก็ไม่ต้องเจ็บป่วยจากขยะเหล่านี้ Waste Buy จึงรับซื้อขยะที่เป็นทรัพยากรมีมูลค่า อาทิเช่น สามารถต่อยอดเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้ และนำไปกำจัดตามความเหมาะสม สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
“กระแสของสังคมและโลกนับจากนี้ เช่น ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย กำลังใกล้ตัวเราและคนที่เรารักมากขึ้น อยากให้มองว่าการคัดแยกขยะเป็นหน้าที่ แต่เป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ เหมือนตื่นเช้า ต้องล้างหน้า แปรงฟัน โดยเปลี่ยนจากความคิดว่าของที่เหลือจากการบริโภคไม่ใช่ขยะ แต่บรรจุภัณฑ์บางอย่างคือสินค้า คือทรัพยากร”
ถุงขยะเป็นตัวช่วยสำคัญในการแยกขยะ
ที่สร้างความเข้าใจตรงกัน ทั้งผู้แยกและผู้รับ
กฤทธิ์ ดนุเดชสกุล ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ถุงขยะแชมเปี้ยน (บริษัท ดนุเดช อุตสาหกรรม จำกัด) กล่าวว่า การแยกขยะ เป็นการช่วยให้เกิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และตัวช่วยสำคัญของการแยกขยะ ก็คือ ถุงขยะ ซึ่งถุงขยะที่มีหลายประเภทสามารถตอบโจทย์การใช้งาน โดยมีถุงขยะ 4 สีแยกขยะ 4 ประเภทที่ทำรวมกับทางหน่วยงานกรุงเทพมหานคร แต่หากยังแยกยากเกินไป จึงมีถุงขยะสีขาวที่ได้สนับสนุนให้กับชุมชนพระเจนนั้นจะช่วยให้ตรวจเช็คได้ง่ายต่อผู้แยกและผู้รับ
นอกจากนี้ยังอยากสนับสนุนในเรื่องการแยกขยะเศษอาหารในครัวเรือนของชุมชน เพราะเศษอาหารถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดการขยะทั้งระบบ หากชุมชนสามารถแยกขยะเศษอาหารได้ จะทำให้ขยะที่เหลือง่ายต่อการจัดการเช่นกัน
ก่อนแยกขยะ ต้องเติมความรู้ความเข้าใจ
ไม้อ่อนดัดง่าย มุ่งสร้างวินัยให้เยาวชน
ม.ล. จิรทิพย์ เทวกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Jak Reward Technology ผู้ก่อตั้ง KHAYA กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการนี้ KHAYA ได้ให้การสนับสนุน 2 ส่วน ได้แก่ การสนับสนุนด้านการจัดเก็บข้อมูลขยะ ชุมชน และการทำกิจกรรมกับชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกในกลุ่มเยาวชนผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพราะเชื่อว่ากลุ่มเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดการดูแลขยะในอนาคตได้ โดยกิจกรรมมีจำนวน 2 ครั้งต่อเดือน และทำงานควบคู่กับสมุดคู่ฝากออมขยะ ตั้งกติกาว่าต้องนำขยะที่คัดแยกมาจากที่บ้าน เพื่อเช็กอินในการเข้าร่วมกิจกรรม นับขยะเป็นชิ้น แลกเป็นขนม เพื่อสร้างวินัยให้เด็ก ๆ เกิดความเคยชิน
เมื่อเราเริ่มต้นที่ตัวเรา
ก็สามารถขยายการจัดการขยะไปสู่ “มาหามิตร”
พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้าและความยั่งยืน ผู้สนับสนุนโครงการที่เริ่มต้นแลกเปลี่ยนแนวคิดการคัดแยกขยะมาสู่ความร่วมมือกับชุมชน โดยอลิอันซ์ อยุธยาเริ่มต้นสร้างวินัยใหม่ให้พนักงานหันมาแยกขยะในพื้นที่สำนักงาน และพยายามสื่อสารเรื่องการคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลดจำนวนขยะที่จะไปสู่ขยะฝังกลบได้ โดยมีเป้าหมายต่อไปคือการส่งขยะไปบ่อฝังกลบต้องเป็นศูนย์ ทั้งบริหารจัดการเอง และรับ-ส่งขยะไปยังโรงงาน (Aliance for Sustainablity)
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ในปี 2565 อลิอันซ์ เริ่มต้นดำเนินกิจกรรมสาธารณะ เช่น โครงการ ปทุมวัน Zero Waste, นิทรรศการ THINK ทิ้ง ชีวิต และในปีนี้ได้เลือกนำร่องกับ ชุมชนซอยพระเจน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่กว่า 22 ไร่ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,000 คน จากกว่า 373 ครัวเรือน