ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ “รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ”

ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ “รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ”

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิต เพราะโรคความดันโลหิตสูง ถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ก็อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ เผยพบประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิต แต่มากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและยังไม่ได้มารับการรักษา

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปี 2566 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวีให้ยืนยาว” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง สามารถแปลผลความดันโลหิตได้ เพราะโรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ จึงควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูงต้องเริ่มปรับพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา ถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และอาจมีอาการต่างๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ต้องรักษาและป้องกัน สำหรับวิธีป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ 1) งดทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง โดยคนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน 2) ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 3) ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ถ้าคนที่ความดันสูงมากหรือคนที่ปรับพฤติกรรมแล้วแต่ความดันยังเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต้องรับประทานยาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากและทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพื่อยืดชีวิตให้ยืนยาวขึ้น สำหรับวิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องคือวัดความดันโลหิตในช่วงเช้าภายใน 1 ชั่วโมง หลังตื่นนอน หรือหลังปัสสาวะแล้ว วัดความดันจำนวน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที วัดช่วงเวลาก่อนเข้านอนโดยวัดความดัน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที นั่งเก้าอี้ให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้นให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว ทั้งนี้ ควรวัดความดันหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที และ 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ หรือ ออกกำลังกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้มีโรคประจำตัว
https://www.thaiquote.org/content/250246

สายตาผิดปกติ
https://www.thaiquote.org/content/250225

มะเร็งชนิดเยื่อบุผิวรังไข่
https://www.thaiquote.org/content/250211