ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อนโยบาย 3Rs จับมือ TIPMSE พัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม

ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อนโยบาย 3Rs จับมือ TIPMSE พัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม


ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อนโยบาย 3Rs (Reduce – Reuse – Recycle) จับมือ TIPMSE ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม

 

“ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย)” ตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทแม่ Suntory Group ด้วยนโยบาย 3Rs (Reduce – Reuse – Recycle) การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ล่าสุดบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ เครือข่าย PackBack และ TIPMSE ร่วมขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG Economy การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้ Circular Economy อาศัยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งานนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์…เพื่อวันที่ยั่งยืน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ตามหลัก EPR ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธีเป็นกระบวนการหนึ่งใน EPR โดยในสถานศึกษาที่ต้องการดำเนินการรูปแบบธนาคารขยะ จึงมีการจัดกิจกรรมอบรม คุณครูแกนนำและนักเรียนคณะทำงานธนาคารขยะเรื่อง “การคัดแยกขยะและบรรจุภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล” โดย ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ร่วมทีมกิจกรรมพร้อมมอบถังขยะรีไซเคิลแก่โรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอนเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

 

 

นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า “ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทแม่ Suntory Group ด้วยนโยบาย 3Rs (Reduce – Reuse – Recycle) คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตั้งแต่การวางแผนและการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการขนส่งและการรีไซเคิลหลังการบริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระเช้าของขวัญที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% จากการใช้พลาสติกแบบ PCR (Post-consumer recycled plastics) และ PIR (Post Industrial Resin) ซึ่งเป็นพลาสติกรีไซเคิลแบบ 100% เป็นวัสดุหลักในการผลิตตัวกระเช้า เช่น หูกระเช้า หรือฐานวางผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้ง ผู้บริโภคยังสามารถนำกระเช้า หรือชิ้นส่วนของกระเช้ากลับไปใช้ซ้ำ (Reuse) ได้ การลดความหนาของขวดผลิตภัณฑ์ “แบรนด์” (BRAND’S) เพื่อลดการใช้วัสดุและช่วยให้น้ำหนักน้อยลง อีกทั้งยังลดการใช้พลาสติกในเซ็ตของขวัญ ปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมากยิ่งขึ้น”

“ล่าสุด บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIPMSE ขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์…เพื่อวันที่ยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ BRAND’S ที่มีขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ และอยู่ในกลุ่ม High Value ที่สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ บริษัทฯ ต้องการ ส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์ จึงได้ร่วมกับTIPMSE จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับคุณครูแกนนำและนักเรียนคณะทำงานธนาคารขยะในจังหวัดชลบุรีเรื่อง “การคัดแยกขยะและบรรจุภัณฑ์ เพื่อรีไซเคิล” ผ่านหัวข้อการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฎิบัติจริง ตั้งแต่การให้ความรู้ในเรื่อง สถานการณ์ขยะ การคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อรีไซเคิล พร้อมมอบถังขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียน เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทั้งนักเรียนและคุณครูเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี” นางมธุวลีกล่าวต่อ

นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE กล่าวว่า “โครงการ PackBack : Chonburi CE City Model เป็นโครงการนำร่องที่ TIPMSE ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กรนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) เข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการฯ โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์รวบรวมบรรจุภัณฑ์ และมีความเป็นทั้งเมืองและชนบท โดยกำหนดบรรจุภัณฑ์เป้าหมายเพื่อดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กลุ่ม High Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีการซื้อขายทั่วไปในท้องตลาด ได้แก่ ขวดแก้ว กระดาษลัง ขวดพลาสติก (PET และ HDPE) และกระป๋องอลูมิเนียมบรรจุเครื่องดื่ม กลุ่ม Middle Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลแต่มีการซื้อขายในท้องตลาดจำกัด เช่น กล่องเครื่องดื่ม และกลุ่ม Low Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่มีศักยภาพในการรีไซเคิล และไม่มีระบบการซื้อ ขายในท้องตลาดพื้นที่ เช่น Multilayer Flexible Packaging ทาง TIPMSE ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการ Pack Back เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์ทั้ง การทดลองใช้ระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ ที่มีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างองค์ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อให้เกิดการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึงการสร้างระบบการจัดการ เพื่อให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับไปเป็นวัตถุดิบได้อย่างมีคุณภาพ เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อเป็นต้นแบบการนำระบบ EPR ในระดับพื้นที่ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ”

นางดวงสมร ราวุธกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอนเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ขยะเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดชลบุรีที่ทางโรงเรียนก็ตระหนักถึง และมีแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ริเริ่มโครงการอย่างเป็นรูปธรรมประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ครั้งนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ PackBack โดยมีการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆ เห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะและนำความรู้ที่ได้รับเป็นแนวทางไปส่งเสริมขยายผลต่อเด็กคนอื่น ซึ่งทางโรงเรียนจะนำความรู้ไปต่อยอดภายใต้กิจกรรม “ธนาคารขยะ” โดยเริ่มจากการที่ให้เด็กรู้จักประเภทของขยะและการแยกขยะที่ถูกต้อง ทำให้เด็กๆ มองเห็นมูลค่าของขยะชิ้นนั้นๆ ซึ่งเป็นการสอนเด็กทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การออม และคุณธรรมความรับผิดชอบ ซึ่งการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมภายใต้กิจกรรมนี้ เด็กจะได้เรียนรู้และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงผ่านการลงมือปฎิบัติจริง ช่วยให้พวกเขานำความรู้ที่ได้รับไปสานต่อได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้ให้กับครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง และชุมชนได้อีกด้วย ก่อนหน้านี้เด็กๆ อาจจะมองไม่เห็นคุณค่าของการแยกขยะ แต่หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมและได้เห็นว่าสมุดบัญชีมียอดเงินฝากที่มาจากขยะที่เขาแยก มันจะขยายผลต่อไปได้โดยอัตโนมัติ ในปีนี้โรงเรียนก็จะเริ่มในกิจกรรมที่เป็นชุมนุมก่อนแล้วค่อยๆ ขยายผลต่อไปยังห้องเรียน ให้เริ่มเห็นประโยชน์ของการแยกขยะมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้น”.