พม. ยกเครือซีพี เป็นองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน

พม. ยกเครือซีพี เป็นองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน


พม. ยกเครือซีพี เป็นองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน ย้ำยุทธศาสตร์แห่งความยั่งยืนของบริษัทภายในปี 2573 หนุนหลักความเสมอภาค-ขจัดการเลือกปฏิบัติ พร้อมจับมือทุกภาคส่วนร่วมส่งมอบคุณค่าแก่สังคม

 

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบประกาศเกียรติคุณยกย่อง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) เป็น 1 ใน17 องค์กรภาคเอกชน “องค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ” จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในงานสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : Gender Fair เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศและกระตุ้นให้เครือข่ายมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม โดยมีนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนรับมอบฯ พร้อมกันนี้เครือฯ ได้ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอแนวนโยบายในการดำเนินการส่งเสริมความหลากหลายและป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร เพื่อเป็นต้นแบบและร่วมสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ได้ให้ความสำคัญเรื่อง “ทรัพยากรบุคคล” ที่ถือเป็นรากฐานและหัวใจในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งตระหนักดีว่าสิทธิมนุษยชนคือแก่นแท้ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงได้ประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงตามมาตรฐานสากลระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในองค์กร และกำหนดเป็น 1ใน 15 ยุทธศาสตร์และเป้าหมายแห่งความยั่งยืนของเครือซีพีตลอดระยะ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2564 – 2573

ทั้งนี้ ตลอดหนึ่งศตวรรษการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก เครือฯ ได้ให้ความสำคัญทางด้านทรัพยากรบุคคล โดยมีผู้บริหารและพนักงานที่มีความหลากหลายในด้านต่างๆ ทั้งช่วงอายุ เชื้อชาติ และเพศสภาพ รวมกว่า 450,000 คน จำนวนพนักงานชายและหญิงที่ใกล้เคียงกันในสัดส่วนร้อยละ 50 : 50 กระจายครอบคลุมในทุกระดับตั้งแต่ระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับ เพื่อนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภายนอกและรัฐบาลเล็งเห็นคุณค่า และความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานของเครือซีพีซึ่งได้ดำเนินมาการตลอดตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท เพราะเราเห็นคุณค่าของคนซึ่งเป็นหัวใจและแก่นแท้หลักของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของเครือซีพี และยังคงยืนยันที่จะปฎิบัติต่อไปเพื่อส่งมอบความยั่งยืนนี้สู่สังคมไทย” นางสาวพิมลรัตน์ กล่าว

 

 

นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวว่า เครือซีพีมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคเช่น นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติด้านแรงงาน นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องของการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดทางเพศ มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น รวมทั้งเปิดช่องทางในการร้องเรียนพฤติกรรมดังกล่าว ขณะที่พนักงานผู้ถูกกระทำจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรการคุ้มครองตลอดกระบวนการ รวมทั้งจัดพื้นที่ที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานทุกคน เช่น การจัดทำห้องน้ำเสมอภาค หรือ Universal Design นำร่องที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ เพื่อให้พนักงานโดยเฉพาะกลุ่มเพศทางเลือกรู้สึกปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะในที่ทำงาน และห้องประกอบศาสนกิจ (ห้องละหมาด) ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานมุสลิม เป็นต้น

“วันนี้เครือซีพีเดินทางสู่ศตวรรษที่สอง เราพร้อมมุ่งมั่นเป็นองค์กรในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้กับพนักงานในทุกกลุ่มธุรกิจ และพร้อมเป็นตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งนี้เครือฯ จะนำศักยภาพของพนักงานทุกคนสนับสนุนสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติในทุกมิติ” ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือฯ กล่าว.