“KingBridge Tower” เป็นโครงการต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

“KingBridge Tower” เป็นโครงการต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน


“KingBridge Tower” เครือสหพัฒน์ ได้รับเลือกเป็นโครงการต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อาคารแรกในไทย

 

อาคารคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) อาคารสำนักงานให้เช่าที่สูงที่สุดในประเทศไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนพระราม 3 โครงการต้นแบบ (Pilot Project) โครงการแรกของไทย พัฒนาโดย บริษัท สห แคปปิตอล ทาวเวอร์ จำกัด ร่วมผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างองค์กรกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) ผ่านองค์ประกอบด้านการออกแบบพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Green & Clean Innovation) สร้างมาตรฐาน และ ระบบบริหารจัดการการก่อสร้างผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยนำแนวคิดมาปรับใช้ในโครงการ โดย KingBridge Tower ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบของอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) นำโดย 23 พันธมิตรองค์กรเอกชน ร่วมมือกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นน้ำ ถึง ปลายน้ำ ในงาน CECI: Action for Sustainable Future อันประกอบด้วย 5 ภาคส่วนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสังคม

 

 

คุณวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สห แคปปิตอล ทาวเวอร์ จำกัด ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า “การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) สะท้อนกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่มุ่งเน้น ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคารรวมถึงชุมชน และจากการที่ โครงการ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) พระราม 3 ได้รับเลือกให้เป็น ‘CECI Pilot Project’ โครงการแรกของประเทศไทยในครั้งนี้ เครือสหพัฒน์มีความตั้งใจที่จะร่วมมือผลักดันการดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction) โดยจะนำหลักการออกแบบและก่อสร้างผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับโครงการในทุกๆ ด้าน การผนึกกำลังกันในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเครือข่าย CECI ผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อาทิ สถาปนิก ผู้รับเหมา สอดคล้องกับแนวคิดของโครงการ “The Spirit of Synergy“ ที่เชื่อมั่นว่าการผสานรวมกันจะก่อให้เกิดพลังเพื่อสร้างความสำเร็จ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

โครงการ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) นำโมเดลตามแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Business Models) มาใช้พัฒนาโครงการในทุกมิติ ด้วยงบประมาณในการลงทุน 6,000 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทโดยรอบตั้งแต่ Mass Study Concept โครงสร้างของตัวอาคาร เลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระจกแบบ 3 ชั้น (Insulated Glass) ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อลดอุณหภูมิ และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เทคโนโลยีประหยัดพลังงานด้วยระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ Building Automation System (BAS) การนำเทคโนโลยี BIM มาใช้เพื่อช่วยลดวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด การติดตั้ง Solar Cell Façade สำหรับผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อลดการใช้พลังงาน ระบบระบายอากาศ การเติมอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้ใช้อาคาร รวมไปถึงการรีไซเคิลและการเลือกใช้วัสดุ

โดยโครงการคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) จะแบ่งเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่าและศูนย์รวมร้านอาหารและบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้เช่าพื้นที่อย่างครบครัน ภายในอาคารประกอบด้วย พื้นที่สำนักงานให้เช่า, พื้นที่ Co-working Space, ห้องประชุม, Healthy Canteen, ร้านอาหาร, สวนแนวตั้ง, ลู่วิ่ง และ Rooftop Restaurant คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567

ทั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การพัฒนา ‘CECI Pilot Project’ ของ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) อาคารสำนักงานให้เช่าที่สูงที่สุดในประเทศไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนพระราม 3 ให้เป็นต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน.