“ออมสิน” สนับสนุนโครงการ “ชุมชนยลวิถีฯ” ให้เด็กและเยาวชนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ช่วยชาวบ้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม นำนวัตกรรม ความรู้สมัยใหม่ทำจุดเช็กอิน พัฒนา CPOT
เมื่อเร็วๆนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมบูรณาการโครงการระหว่างธนาคารออมสินกับกระทรวงวัฒนธรรม “โครงการออมสินมีดี ชุมชนวิถีถิ่นไทย” กับ “โครงการเที่ยวชุมชน ยลวิถี” โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพัฐศิษฏ์ ธนชวาลย์ ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ นายณัฐวุฒิ ธรรมตานันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการลูกค้ารายย่อยและองค์กรชุมชน ธนาคารออมสินและคณะ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นางยุพา กล่าวว่า หลังเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐบาลมอบหมายให้ทุกกระทรวงช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในส่วนของ วธ. โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีนโยบายนำมิติวัฒนธรรมช่วยเหลือเครือข่ายต่างๆทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะโครงการต่อยอดชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ทั่วประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติของจังหวัด เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปีละ 10 ชุมชน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบขยายให้ชุมชนอื่นๆ โดยจะเข้ารับโล่จากนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สร้างการรับรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทางธนาคารออมสิน ได้มีโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างธนาคารออมสินกับ 66 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมพัฒนายกระดับทักษะและขีดความสามารถในการประกอบกิจการของกลุ่มองค์กรชุมชนให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดได้ นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มองค์กรชุมชนมาจัดจำหน่ายต่างๆ
“ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอบคุณทางธนาคารออมสินเป็นอย่างมากที่เห็นความสำคัญในแนวทางพัฒนาชุมชนยลวิถี ซึ่งในปี 2564 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องไป 10 ชุมชน โดยเฉพาะที่ชุมชนคุณธรรมฯบ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และชมชนคุณธรรมฯบ้านเก่าริมน้ำประแส จังหวัดระยอง ชุมชนคุณธรรมฯบ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา ขณะนี้มีน้องๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นของธนาคารออมสิน นำความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ลงพื้นที่ไปพัฒนาภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ช่วยเหลือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว และทางธนาคารออมสินกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาส่งเสริมให้นักศึกษาลงพื้นที่ไปอีก 7 ชุมชนร่วมกับ วธ.พัฒนาภูมิทัศน์ จุดเชคอิน ผลิตภัณฑ์ชุมชน โฮมสเตย์ต่างๆ จุดเด่นของชุมชนยลวิถีนั้นเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สำคัญ วธ.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเอง เห็นคุณค่าช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาของตัวเอง ให้เด็กในชุมชนเล่าเรื่องชุมชนตัวเอง เรื่องดีๆที่บ้านฉัน แทรกซึมให้ตระหนัก ภาคภูมิใจ ช่วยกันค้นหาเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนตัวเอง ซึ่งนอกจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชนจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแล้ว จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทุกด้านด้วย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(Cultural Product of Thailand : CPOT) พัฒนารูปแบบ และจำหน่ายด้วย ทางกระทรวงวัฒนธรรมยินดีทำงานร่วมกันทุกองค์กรหน่วยงาน ไม่ว่าจะองค์กรไหน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความร่วมมืออย่างเต็มที่” ปลัดวธ. กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จของ วธ. ตามวิสัยทัศน์ใหม่วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้กลายเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ รวมทั้งมุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย และอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพ 5 F เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาล.