GPSC โชว์ 3 ผลงานชนะเลิศเยาวชนนักประดิษฐ์ คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานฯ โครงการ GPSC YSI Season 4

GPSC โชว์ 3 ผลงานชนะเลิศเยาวชนนักประดิษฐ์ คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานฯ โครงการ GPSC YSI Season 4


GPSC เปิด 3 ผลงานนวัตกรรมของเยาวชนไทยเวที GPSC Young Social Innovator 2021 Season 4 คว้ารางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารีพร้อมทุนการศึกษา หนุนส่งผลงานเข้าประกวดเวทีนานาชาติต่อเนื่อง

 

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จัดโครงการ “GPSC Young Social Innovator 2021 Season 4” ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” สำหรับความพิเศษของปีนี้ คือ 3 ผลงานนวัตกรรม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท จำนวน 3 รางวัล

คุณศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับโครงการ GPSC Young Social Innovator ปีนี้ก็ถือว่าจัดเป็นปีที่ 4 แล้ว ในปีแรกเราดำเนินการในระดับเรียกว่าเป็นภาค ทำที่ภาคตะวันออกก่อน แต่ว่าหลังจากที่เราเริ่มขยายมาเป็นระดับประเทศ เมื่อปีที่แล้วเราก็มีผู้ที่ร่วมเข้ามาดำเนินการถึงมากกว่า 300 ทีม แต่ที่สำคัญคือปีนี้เรามีถึง 450 ทีมเข้ามาร่วม และก็ที่สำคัญก็คือว่ามาจากทั่วประเทศจริง ๆ แสดงให้เห็นว่าโครงการของเราได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมาก และพัฒนาการในปีนี้ก็ถือว่ามีการพัฒนาดีเป็นอย่างยิ่ง ปีนี้เองได้มีการแบ่งประเภทของการประกวดออกไป 3 ด้าน ที่ชัดเจน ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ ในด้านของสิ่งประดิษฐ์ และในด้านของกระบวนการและวิธีการ ภายใต้ Concept เดิมที่เราคงเดินหน้าต่อในเรื่องของพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นโจทย์ที่ทำให้ทีมนักศึกษา นักเรียนที่ร่วมประกวดมีความชัดเจนในการเป็นต้นทางในแนวคิดและประกอบกับการที่เรายังส่งเสริมทักษะในการพัฒนาแนวความคิดจากวิทยาศาสตร์ จากโจทย์ที่มีอยู่ไปสู่ผล ลัพธ์ทั้ง 3 ด้าน”

ปีนี้แบ่งผลงานนวัตกรรมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทผลิตภัณฑ์ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ และประเภทกระบวนการและวิธีการ สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประกอบด้วย

1. ประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ชื่อผลงาน “ไคโตซานกับการพัฒนาผ้าพื้นเมือง”

 

 

2. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่ โรงเรียนอนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์ ชื่อผลงาน “วัสดุลอกลายพิมพ์นิ้วมือจากพอลิเมอร์ธรรมชาติ”

 

 

3. ประเภทกระบวนการและวิธีการ ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จ.เพชรบุรี ชื่อผลงาน “สารปรับปรุงและควบคุมคุณภาพน้ำสำหรับเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเขตร้อนจากแทนนินสกัดของใบหูกวาง”

 

 

นอกจากนี้ในปีนี้ได้มอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนที่เข้ารอบรองชนะเลิศ จำนวน 30 ทีม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาศักยภาพในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สังคมในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

น้องทีมศรราม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานด้านผลิตภัณฑ์ จากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ชื่อผลงาน “ไคโตซานกับการพัฒนาผ้าพื้นเมือง” โดยน้องๆ ได้เล่าถึงที่มาของผลงานและความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ว่า “สำหรับโครงการของเราคือไคโตซานกับการพัฒนาผ้าพื้นเมือง โดยเราจะใช้ไคโตซานที่เราสกัดจากเปลือกกุ้ง เปลือกหอย และก็ตัวซิงค์ออกไซด์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผ้าพื้นเมืองเรา โดยเราได้นำไคโตซานกับซิงค์ออกไซด์มาช่วยให้มันย้อมสีติดได้ง่ายขึ้น และก็ช่วยให้มันกันเชื้อรา ช่วยให้ป้องกันยูวี และก็สมมติเวลาใช้ผ้าพื้นเมืองของเรามีปัญหา คือ สมมติโดนแสงสีก็จะซีดลงเราก็ได้ใช้ไคโคซานมาช่วยให้สีซีดลงน้อยลง พวกผมรู้สึกว่าโครงการนี้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจที่อยากจะช่วยพัฒนาชุมชนของเรา ให้ชุมชนของเรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนของเราให้มันมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น”

สำหรับโครงการ GPSC Young Social Innovator นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นด้วยผลงานที่สร้างสรรค์และให้เยาวชนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รักษาการรองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ด้านพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พูดถึงโครงการนี้ว่า “ตัวนวัตกรรมของค่ายนี้จริงๆ อยู่ในนวัตกรรมของการสร้างคน ที่เป็นนวัตกรให้กับสังคม มากกว่าที่จะมองแค่ผลลัพธ์ของการจัดประกวด ประกวดแล้วจบไป เชื่อว่ามีผลงานที่เกิดจากโครงการนี้ในแต่ละปีที่ผ่านมา ที่ยังคงใช้อยู่ในชุมชน อันนี้คือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง เป็นความหมายของนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างแท้จริงมากกว่ารางวัลที่น้องๆ ได้รับ”

“เรารู้สึกมีความภูมิใจมากที่เราเห็นเยาวชนไทยของเรามีทักษะ มีความรู้ สามารถที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไปเป็นนวัตกร แล้วก็สามารถที่จะให้พนักงาน ผู้บริหารของเราที่มีทักษะความรู้ในการพัฒนาไปสู่ธุรกิจเข้ามาช่วยสนับสนุนทีมงานเหล่านี้ ให้น้อง ๆ เขามีโอกาสในการพัฒนาไปสู่ระดับของเชิงพาณิชย์ได้ ในระดับนานาชาติเราเองก็ได้มีการสนับสนุนและก็ส่งเสริม ส่งทีมที่ชนะเลิศการประกวดเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 ปีซ้อน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าน้องๆ ของประเทศไทย เยาวชนไทยก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญ และก็มีความรู้ความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก” นายศิริเมธกล่าว

GPSC ได้สนับสนุนส่งผลงานนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของเยาวชนไปสู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติในทุกๆ ปี ซึ่งตลอด 3 Season ได้กวาดรางวัลในเวทีโลกมากกว่า 14 รางวัล ในเวทีต่างๆ สะท้อนความสามารถเยาวชนไทยก้าวสู่นักพัฒนานวัตกรรม สร้างสรรค์ผลงาน รู้คุณค่าการใช้ทรัพยากร ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ ไปพัฒนาปรับใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป.