ซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

ซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลิตอาหารอย่างยั่งยืน


ซีพีเอฟ สานต่อโมเดลธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย BCG พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมหนุนสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโมเดลธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย BCG พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมหนุนสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว ( CPF Green Revenue ) 40 % มุ่งสู่การเป็นองค์กรรักษ์โลกและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากลดโลกร้อนที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งบริษัทฯได้เริ่มประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการนำหลักการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA ) ตามมาตรฐานสากล ISO 14040, ISO 14044 และ ISO 14067 ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค และการกำจัดของเสีย สู่เป้าหมายการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

 

 

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ มากกว่า 790 รายการ มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมากกว่า 30 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ได้รับรองฉลากลดโลกร้อนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้แก่ อาหารไก่เนื้อ ไก่ เป็ด และ สุกรขุนมีชีวิต ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ เนื้อเป็ด และหมูสด เป็นผลจากการพัฒนา ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ให้มีโภชนาการที่เหมาะสมกับการเติบโตแต่ละช่วงวัย และการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ในกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ทำให้ได้ห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่บริโภค รวมไปถึงการผลิตอาหารสัตว์ โดยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาบรจุภัณฑ์ที่่ยั่งยืน ตลอดจนการขนส่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ” นางสาวกุหลาบ กล่าว

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน ทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว ( CPF Green Revenue )อยู่ที่ 33 % ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำได้รวม 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่บริษัทฯ มีเป้าหมายด้านสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ 40 % ในปี 2030 (หรือปี พ.ศ. 2573) ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และเป็นไปตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ Bio Circular Green Economy (BCG)

ทั้งนี้ ในปี 2564 ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประเมินองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business Index: LCSi) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพการผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดภาวะโลกร้อน ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารยั่งยืนสู่ผู้บริโภค .