ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนสู่เป้าหมาย การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร ตามแนวทาง BCG ตั้งเป้า บรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ หรือย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2568
นายกิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์กลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน บนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และหนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีแนวปฏิบัติตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ภายใต้แนวคิด FEE ซึ่งประกอบด้วย F หรือ Functional คือ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุของอาหารให้นานขึ้น เป็นการลดปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) E คือ Ethics เน้นความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภค โดยใช้วัสดุคุณภาพดี (Food Grade) ได้มาตรฐานตามกฎหมาย สามารถป้องกันการปนเปื้อนในอาหาร ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ E หรือ Emotion คือ พัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
“ปัจจุบัน ซีพีเอฟใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก 99.9% เป็นพลาสติกประเภทที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ นำมาใช้ใหม่ หรือ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ หรือย่อยสลายได้ และบริษัทฯ พยายามหาแนวทางที่จะไปสู่เป้าหมายให้เป็นการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และปี 2573 สำหรับกิจการในต่างประเทศ” นายกิตติ กล่าว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยกำหนดแนวปฏิบัติ ส่งเสริมการศึกษาและใช้วัสดุที่ทดแทนใหม่ได้จากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน การเพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารเท่าที่สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยไม่กระทบกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร การส่งเสริมและสนับสนุนการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปผลิตเป็นพลังงาน (Energy Recovery) โครงการรับคืนบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค (Take-back System)
เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปสู่การรีไซเคิล (Design for Recycle) ได้แก่ การใช้บรรจุภัณฑ์จากโมโนพลาสติก (mono plastic) โดยร่วมมือกับคู่ค้าในการศึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใช้พลาสติกชนิดเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะสู่การฝังกลบให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังหาวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลกับสินค้าประเภทไข่สด และใช้พลาสติกรีไซเคิลในถาดไข่ที่เป็นพลาสติก เป็นสัดส่วน 80%
ซีพีเอฟ ยังลดการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยแบรนด์ Star Coffee ได้ใช้นวัตกรรมใช้แก้วกาแฟ ฝาครอบ และหลอดที่ทำจากไบโอพลาสติกซึ่งผลิตจากพืช และสามารถย่อยสลายได้ โดยได้มีการออกแบบฝาครอบแก้วกาแฟ ที่สามารถยกดื่มได้เพื่อลดการใช้หลอด รวมทั้ง ซีพีเอฟยังเป็นผู้ริเริ่มนำนวัตกรรมถาดพลาสติกใสชีวภาพ Polylactic acid (PLA) มาใช้ในประเทศไทย โดยใช้กับเนื้อหมูและไก่สดแช่เย็น CP Butcher ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา.