ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้แทนชุมชน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนนิมิตรใหม่เมืองมีน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน “การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านหรือที่ชุมชน Home/Community Isolation”
ผศ.ภญ.ยุพดี เปิดเผยว่า มาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน (Community Isolation) เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่เตียงเต็ม โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ที่จะออกแบบให้เหมือนเปลี่ยนบ้านเป็นโรงพยาบาล ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชน จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ พร้อมมีแพทย์ดูแล มีอุปกรณ์ ยา อาหารต่างๆ ให้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ในการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกว่า 1,200 คน ที่ยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง ซึ่งผู้ติดเชื้อจะถูกลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของ รพ.ปิยะเวท และนัดวันเอกซเรย์ปอด โดยทางโรงพยาบาลจะจัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจผู้ป่วยในชุมชนเพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบให้เร็วที่สุด และตรวจซ้ำทุก 3 วัน
“กระบวนการทั้งหมด สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสนับสนุนค่าอาหารวันละ 1,000 บาท และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกิน 1,100 บาทต่อราย รวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่นๆ และค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.วิทิต กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมทำงานร่วมกับชุมชนในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยจากในชุมชน ซึ่งบางรายอาจมีการไปตรวจด้วยตนเองมาแล้ว แต่โรงพยาบาลต้องขอตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางรายตรวจหาเชื้อจากแอนติเจนซึ่งได้ผลเป็น false positive หรือบางรายก็ตรวจจากคลินิกหรือห้องแล็บเอกชนที่ไม่ได้รับรอง ทำให้ผลตรวจไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าตรวจจากโรงพยาบาลรัฐด้วยวิธี RT-PCR ก็จะรับเข้าเป็นผู้ป่วยในเลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ
ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนสร้างระบบ Home Isolation และ Community Isolation ร่วมกับ สปสช. มูลนิธิพัฒนาที่อยุ่อาศัย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 30 ชุมชน ใน กทม.และปริมณฑล โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมีผู้ป่วยได้รับการดูแลประมาณ 180 คน ทั้งผู้ป่วยในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อช่วยลดวิกฤตปัญหาโรงพยาบาลเตียงไม่พอ และช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบจัดการของชุมชน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย เครื่องอุปโภคบริโภค และการวางระบบดูแลผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวในบ้าน รวมถึงจัดทำศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน 2. พัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาวะในชุมชน จัดอบรมการดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักคอยเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้ด้านการบริบาลผู้ป่วย 3. สนับสนุนการทำต้นแบบชุมชน ทั้งระบบภายในสำหรับดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน และระบบภายนอกที่เชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยกับหน่วยงานต่างๆ
“นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาเตียงไม่พอ และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในยามวิกฤตครั้งนี้ เรายังสนับสนุนการจัดการตัวเองในระยะยาว ด้วยการสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หารายได้เสริมในชุมชน และการสนับสนุนให้เกิดระบบครัวกลางและการแบ่งปันอาหารภายในชุมชน” ดร.สุปรีดา กล่าว
เรื่องที่น่าสนใจ
ฟ้าทะลายโจร-ฟาวิพิราเวียร์ พร้อมแล้ว สปสช.-สธ. ส่งทีมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน