เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก กับนวัตกรรม ที่จะหยุดขยะพลาสติก

เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก กับนวัตกรรม ที่จะหยุดขยะพลาสติก


นวัตกรรมเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานน้ำมัน บนพื้นที่แม่น้ำคงคา-มหาสมุทร เพื่อภารกิจเดียวคือ “เซฟโลก”

พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2562 เพื่อช่วยแก้ปัญหาของขยะพลาสติก 8 ล้านตัน ที่หลุดลงสู่มหาสมุทรทุกปีและทำลายระบบนิเวศทางทะเลและฆ่าสัตว์น้ำจำนวนมาก พวกเขาไม่ใช่เอ็นจีโอที่เน้นลุยเดี่ยว แต่ได้ผนึกกำลังกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นต้นตอปัญหา โดยเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีบทบาทเกี่ยวกับการผลิตพลาสติกเกือบ 50 แห่ง และบริษัทเหล่านี้จะลงทุนให้ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อป้องกันการรั่วไหลของพลาสติก การกู้คืนพลาสติกและสร้างมูลค่าจากขยะพลาสติก

แนวคิดของกลุ่มนี้ก็คือ No one can do it alone (ไม่มีใครทำงานคนเดียวได้) และภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญที่จะละเลยหรือมองเป็นศัตรูไม่ได้ พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติกมีโครงการน่าทึ่งหลายโครงการ ตัวอย่างเช่น The End Plastic Waste Innovation Platform (แพลตฟอร์มนวัตกรรมหยุดขยะพลาสติก) ซึ่งจัดร่วมกับ Plug and Play ผู้ลงทุนสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มนวัตกรรมรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา โครงการนี้มุ่งเน้นการให้เงินลงทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ทั่วโลกให้คิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับพื้นที่จัดการขยะพลาสติก ลดของเสีย ทำให้การรีไซเคิลและกู้คืนพลาสติกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสร้างมูลค่าให้กับพลาสติกที่ใช้แล้ว

สาเหตุที่เน้นการรีไซเคิลและการสร้างมูลค่าให้ขยะ เพราะในทุกปีเราจะสูญเสียเงินไปฟรี ๆ ถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากหีบห่อสินค้าไม่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลครบถ้วน จาก 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีเพียง 14% เท่านั้นที่จะถูกนำมารีไซเคิล และยังเกิดการสูญหายระหว่างการแยกขยะอีก ทำให้เหลือวัตถุดิบเพียง 5% เท่านั้น ขณะที่พลาสติกประเภทอื่น ๆ มีอัตราการรีไซเคิลต่ำกว่าอีกหรือแค่ประมาณ 2%

นี่คือการระดมทุนเพื่อสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมหยุดขยะพลาสติกครั้งแรกของโลก โดยโครงการนี้ตั้งศูนย์สนับสนุนสตาร์ทอัพอยู่ 3 แห่ง นั่นคือ ซิลิคอนวัลเลย์, ปารีส และสิงคโปร์ เบื้องต้นได้คัดสตาร์ทอัพมาได้แล้วบางส่วน แต่เกิดโควิด-19 ขึ้นจึงต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์และขยายเวลาคิดค้นนวัตกรรมและทำการตลาด จากเดิมให้เวลาแค่ 90 วันมาเป็น 180 วัน อีกโครงการมีชื่อว่า Renew Oceans (คืนชีวิตให้มหาสมุทร) จะช่วยประสานงานในการทำความสะอาดแม่น้ำ 10 สายที่สกปรกที่สุดในโลก เริ่มต้นด้วยแม่น้ำคงคาในอินเดีย (และสาขาของคงคา) ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คน 400 ล้านคน แต่ปล่อยขยะสู่มหาสมุทรถึง 90% ของขยะพลาสติกจากแผ่นดินทั้งหมด มีขยะพลาสติกสะสมประมาณ 544,000 ตันต่อปี

กลุ่มพันธมิตรจะใช้เทคโนโลยีจากนวัตกรรมเพื่อใช้ขยะจากแม่น้ำคงคาเป็นตัวขับเคลื่อนโดยในปี 2562 มีการรวบรวมขยะพลาสติกจากแม่น้ำคงคาได้ประมาณ 50 ตัน และในปี 2563 ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซล ขณะที่ในอินโดนีเซีย มีการริเริ่มโครงการ Project Stop 3 (Jembrana) ในเขตเจมบรานา บนเกาะบาหลี ซึ่งขยะพลาสติกบนเกาะประมาณ 33,000 ตัน ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและไหลลงมหาสมุทร และที่สำคัญแม่น้ำอิโจ กาดิง ในเขตเจมบรานามีขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดของเกาะบาหลี คิดเป็น 12% ของทั้งจังหวัด

Zero Plastic Waste Cities (เมืองขยะพลาสติกเป็นศูนย์) เป็นโครงการของ Grameen Creative Lab ที่เป็นการริเริ่มของทางพันธมิตรฯ กับโมฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ริเริ่มธนาคารของคนจนและติดอาวุธด้านการเงินให้ผู้ด้อยโอกาส โครงการนี้มุ่งสร้างระบบการจัดการขยะโดยใช้เงินทุนน้อยและเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ให้เหลือของเสียหรือเหลือน้อยที่สุด นี่คือตัวอย่างโครงการของพันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติกซึ่งใช้นวัตกรรมนำการแก้ปัญหา เป็นโครงการที่สร้างมูลค่าได้ มีตลาดรองรับ และเป็นมิตรกับการลงทุน ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบปกติ

ที่มา- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่น่าสนใจ