โครงการ Upcycling the Ocean ของ “PTT GC” จุดประกายสาวรักษ์ทะเล เปลี่ยนขยะพลาสติกเกลื่อนทะเล มาทำเป็นกระเป๋าปลารักษ์โลก จากผ้าที่ทอด้วยขยะพลาสติกใต้ทะเล
2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องขยะในทะเลดูจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนหันมาสนใจและใส่ใจกันมากขึ้น และทันทีที่มีการจัดอันดับออกมาว่า ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดติด 1 ใน 5 โลก ก็ทำให้หลายฝ่ายเริ่มขยับขับเคลื่อนแนวคิด และมีการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่มีการลงทุนลงแรงในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็คือ แบรนด์เล็กๆ แต่คิดใหญ่อย่าง “ปาเป๋า” ผู้ใช้การ ‘Upcycling’ ขยะพลาสติกที่มีอยู่กราดเกลื่อนชายหาดและทะเล มาทำเป็นกระเป๋าปลารักษ์โลก หนึ่งในผู้เข้าประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าที่ทอด้วยขยะพลาสติกใต้ทะเลโครงการ Upcycling the Ocean ของ “PTT GC” นั่นเอง
สำหรับโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTT GC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ อีโคอัลฟ์ โดยทั้ง 3 องค์กร มีความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย โดยการจัดเก็บและแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม
โดยคุณนิธินันท์ สหายสุข หรือคุณนิ เป็นคนที่รักและหลงใหลในทะเล เพราะอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ริมชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ต ได้เห็นและรับรู้ปัญหาของทะเลมาตลอด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวเธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองจากการทำธุรกิจงานพิมพ์ผ้าวาดการ์ตูนดิจิตอลมาเป็นผู้สร้างสรรค์กระเป๋าพกพารูปปลาและสัตว์ทะเลที่ทำจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกได้นึกถึงปลาที่มีความหลากหลายในทะเลภูเก็ต
“แรกเริ่มเดิมที กระเป๋าปาเป๋าผลิตจากผ้าโพลีเอสเตอร์ทั่วไปก่อน ต่อมาเมื่อเราได้เข้าประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าที่ทอด้วยขยะพลาสติกใต้ทะเล ภายใต้โครงการ Upcycling the Ocean ของ GC เมื่อปลายปี 2561 นั่นคือจุดเปลี่ยนให้เราหันมาใช้วัสดุเช่นนี้แทนตั้งแต่นั้น เพราะเราอยากเป็นมีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหาขยะในทะเล โดยเฉพาะกับทะเลภูเก็ต และได้สื่อสารไปยังลูกค้าให้อนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก” คุณนิธินันท์ บอกถึงที่มา
ในด้านหนึ่งนั้น นอกจากการหยิบเอาปลาและสัตว์ทะเลมาดีไซน์แล้ว เราเองก็ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของเราสะท้อนและผสมผสานความเป็นภูเก็ตเข้าไปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ บนลวดลายของกระเป๋าจึงมีลักษณะที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ลายจากเส้นจักรสาน ลายผ้าบาเต๊ะ หรือกระทั่งลายกระเบื้องชิโนโปตุกีสนั่นเอง” คุณนิธินันท์ บอก
ภายใต้ลวดลายสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ความเป็นภูเก็ต เจ้าของแบรนด์ปาเป๋ารักและหวงแหนทะเล ยังได้เลือกหยิบจับขยะจากท้องทะเลอย่างขวดพลาสติกมาใช้เป็นประเด็นในการสื่อสาร สอดแทรกเข้าไปในตัวงานด้วย โดยนำเอาขวดพลาสติกเหล่านั้น มาทอเป็นเส้นใยและใช้ในการสานเป็นกระเป๋าขึ้นมา
เธอบอกด้วยว่า กระเป๋าปลารักษ์โลกของเรา นอกจากจะใช้วัสดุที่รีไซเคิลจากขยะขวดพลาสติกทางทะเลแล้ว” คุณนิอธิบายต่อ “บรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมันมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับการทิ้งขยะ พร้อมกับสโลแกน ‘Save Ocean Save Fish’ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มมุมมองในเชิงการอนุรักษ์ ทำให้ผู้บริโภคร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเห็นความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
นี่คือเรื่องราวจากแบรนด์หนึ่งที่ตั้งต้นจากการนำความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมาจับกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อต่อยอดนำไปสู่ทางออกที่ทำให้โลกนี้น่าอยู่กว่าเดิม ซึ่งจากนี้ต่อไป ยี่ห้อกระเป๋าปลารักษ์โลกอย่าง ‘ปาเป๋า’ ก็คงไม่หยุดที่จะเดินหน้าต่อ เพราะเจ้าของแบรนด์อย่างคุณนิเองก็มองว่า การเดินทางของปาเป๋านั้น กำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว
คุณนิบอกว่าในการผลิตกระเป๋าปาเป๋าของเรานั้น เรามองว่า มันเป็นการใช้พลาสติกตามหลักการ 3Rs นั่นคือ Reduce-Reuse-Recycle อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งถือเป็นการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แถมยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ หรือที่เรียกกันว่า Upcyclingด้วย
“ต่อจากนี้ไปแบรนด์ปาเป๋าจะยังคงใช้ผ้าทอที่ทำจากขยะขวดพลาสติกในทะเลต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีขยะพลาสติกในทะเลอีกต่อไปแล้ว” เจ้าของแบรนด์กระเป๋ารักษ์โลก กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าชื่นชม
ข่าวที่น่าสนใจ