เด็กวิศวะโยธา พัฒนา “คอนกรีตผสมกระดูกไก่” เหลือทิ้ง แก้ปัญหาขยะรง.

เด็กวิศวะโยธา พัฒนา “คอนกรีตผสมกระดูกไก่” เหลือทิ้ง แก้ปัญหาขยะรง.


 

นศ.วิศวะโยธา มทร.ธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตสูตรใหม่ ผสม “กระดูกไก่” ที่เหลือทิ้งหลังนำไปใช้ดูดซึมฟลูออไรด์ในโรงงานอุตสาหกรรม พบคุณสมบัติไม่ต่างจากคอนกรีตทั่วไป ยิ่งกระดูกไก่ปนเปื้อนฟลูออไรด์มาก ยิ่งใช้เวลาก่อตัวซีเมนต์เพลสน้อยลง

ในแต่ละวันกระดูกไก่จากโรงงานอุตสาหกรรม และบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เห็นดาดดื่นอยู่ทั่วเมือง ต่างมีกระดูกไก่เหลือทิ้งมากมาย นักศึกษาภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงปิ๊งไอเดียที่จะนำกระดูกไก่มาผสมลงในคอนกรีต เพื่อเพิ่มมูลค่าแก้ปัญหา กระดูกไก่ที่เหลือทิ้ง มาสร้างมูลค่าและพัฒนาคุณสมบัติของคอนกรีต

 

 

 

สำหรับเจ้าของไอเดียประกอบด้วย นายศุภศิษฐ์ สีลา นายคุณานนต์ แซ่บ้าง ,นายจิรายุส ยีสมัน และ นายนภัสรพี แสงสว่าง นักศึกษาภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมีว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

โดยว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า กระดูกไก่เป็นวัสดุที่สามารถนำมาบดและเผาเป็นวัสดุสำหรับใช้ในการดูดซึมสารฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ได้ แต่เมื่อกระดูกไก่ดูดซึมสารฟลูออไรด์แล้วจะเป็นวัสดุที่สามารถกำจัดได้ยาก เนื่องจากอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ต้นทุนในการกำจัดสูง ทางทีมผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะนำกระดูกไก่ที่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มาผสมลงในคอนกรีต เพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหากระดูกไก่ที่มีการปนเปื้อนสารฟลูออไรด์ ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณสมบัติของคอนกรีต การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษา

 

 

โดยออกแบบส่วนผสมของคอนกรีตผสมกระดูกไก่บดจากการกำจัดฟลูออไรด์ และขึ้นรูปเป็นคอนกรีตรูปลูกบาศก์ขนาด 15×15×15 เซนติเมตร จากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและทางกลเพื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไปตามมาตรฐาน ASTM และ BSI

นายศุภศิษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงผลที่ได้จากการทดสอบว่า ผลการวิเคราะห์หาส่วนขนาดคละของมวลรวม กระดูกไก่บดมีค่าโมดูลัสความละเอียดใกล้เคียงกันกับทรายและผ่านข้อกำหนดของกรมทางหลวง และคอนกรีตจะมีค่าการยุบตัวที่น้อยลงเมื่อปริมาณของกระดูกไก่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มากขึ้น

 

 

 

 

 

ส่วนผลการทดสอบการระยะเวลาการก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ พบว่าหากภายในกระดูกไก่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์อยู่มากก็จะส่งผลให้ระยะเวลาก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ใช้เวลาน้อยลง ในขณะที่อุณหภูมิจากปฏิกิริยาไฮเดรชันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้การที่กระดูกไก่มีลักษณะมีช่องว่างในการดูดซึมสารฟลูออไรด์มาก จะทำให้คอนกรีตที่ได้มีค่าน้ำหนักต่อก้อน และความต้านทานแรงอัดลดลง รวมทั้งมีการดูดซึมน้ำที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็สามารถนำไปใช้ออกแบบและใช้งานได้เช่นเดียวกับคอนกรีตทั่วไป

 

 

ทั้งนี้คอนกรีตผสมกระดูกไก่จากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์นั้นเหมาะแก่การนำไปใช้ในงานที่มีความต้องการเร่งการก่อตัวของคอนกรีตให้เร็วมากขึ้น หรืองานที่ต้องการใช้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวน้อยๆ

นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานของเด็กไทยที่มีแนวคิดที่ช่วยสร้างสรรและลดมลพิษต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยต้องขอชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ใส่ใจรักษ์โลก

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เชสเตอร์จิตอาสา ร่วมปลูกป่า “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”