ว.เทคนิคสัตหีบ เซ็นสัญญากลุ่ม บ.อุตสาหกรรมการบิน ยกระดับคนอาชีวะรองรับ EEC

ว.เทคนิคสัตหีบ เซ็นสัญญากลุ่ม บ.อุตสาหกรรมการบิน ยกระดับคนอาชีวะรองรับ EEC


สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จับมือกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ยกระดับคนอาชีวะรองรับ EEC วาง “สัตหีบโมเดล” จับคู่การเรียนการสอนระหว่างวิทยาลัย และสถานประกอบการ

 

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่ บริษัทซีเนียร์ แอร์โรสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด และสนามบินหนองปรือ

ในการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์สนับสนุน และส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพในสาขาวิชาการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน สาขาวิชาช่างซ่อมอากาศยาน และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และทักษะด้านผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน รวมถึงการได้รับประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีสมรรถนะวิชาชีพที่ตรงตามมาตรฐาน

 

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การดำเนินความร่วมมือในครั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้ใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการจัดการในลักษณะของ “สัตหีบโมเดล” คือการจับคู่การเรียนการสอนระหว่างวิทยาลัย และสถานประกอบการ โดยการยกห้องเรียนทั้งห้องเรียน หรือคลาสรูมในสาขาวิชานั้นๆ เพื่อมาเรียนกับบริษัท หรือสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง

โดยวิทยาลัย จะมีหน้าที่คัดสรรสาขาวิชาร่วมกับสถานประกอบการใน EEC ที่มีเครื่องมือ ความรู้ บุคลากร มีความชำนาญและในตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรในสาขาวิชานั้นๆ สถานประกอบการจะเข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร เนื่องจากแต่ละสาขาวิชายังขาดครูอาจารย์ที่มีความรู้ มีความชำนาญจริงๆ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ NEWS-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อการบริหารจัดการทั้งในการจัดตารางเรียน การพัฒนาหลักสูตร และการฝึกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการทำงานของบริษัทหรือสถานประกอบการ

ซึ่งเป็นแนวทางในแผนการพัฒนาบุคลากรด้านกำลังคนระดับอาชีวศึกษา โดยมีการประเมินความสามารถในการผลิตกำลังคนอาชีวะเข้าสู่ตลาดในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 2564 และมีแนวโน้มในการประเมินคุณภาพ และมาตรฐานที่ดี และถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถต่อยอดและขยายผลสร้างแรงงานทักษะสูงให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้ในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งแรงงานนำเข้า

ด้าน นายไซมอน เจฟฟีย์เชลฺส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมากว่า 15 ปี โดยบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในหลายด้าน หลังขานรับนโยบายรัฐที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย ด้วยการเพิ่มไลน์โรงงานผลิต เพื่อรองรับโปรเจ็กต์ “สัตหีบโมเดลโดยมีเครือข่ายความร่วมมือ จาก Mazak และ Mitutoyo ให้ความร่วมมือสนับสนุนเครื่องจักรเพื่อรองรับหลักสูตร

ส่วนการขยายไลน์ผลิตเพื่อรองรับโปรเจ็กต์ “สัตหีบโมเดล” ซึ่งบริษัทได้ให้ บริษัท พาต้า เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในการวางระบบต่างๆ ในไลน์การผลิตครั้งนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการสัตหีบโมเดลพัฒนาบุคลากร รองรับนโยบายรัฐ ดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาคเอเชีย โดยตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศดังกล่าว กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เพื่อสร้างบุคลากรแรงงานทักษะสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ ผลิตนักศึกษาระบบทวิภาคี คาดว่าจะเปิดหลักสูตรได้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ซึ่งในแต่ละปีคาดว่าจะสามารถผลิตนักศึกษาทักษะสูงด้านการผลิตและซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานให้จบออกมาได้ปีละ 15 คน โดยปีแรกจะผลิตนักศึกษาออกมา 11 คน ขณะนี้ได้พัฒนาหลักสูตรที่พร้อมสำหรับการเปิดภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา 2563 มีผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 6 คน ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และผ่านการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีเครื่องมือและเครื่องจักรกล และคัดเลือกบุคลากรของบริษัท 5 คน รวมมีผู้เรียนทั้งหมด 11 คนในชั้นเรียนแรก โดยทั้งหมดจะได้รับทุนการศึกษาเต็มรูปแบบจาก บริษัทฯ และประกาศนียบัตรด้านเทคโนโลยีการผลิตสำหรับชิ้นส่วนอากาศยาน

โดย ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาตะวันออกว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นปัญหาใหญ่ในการพัฒนาประเทศ สวนทางกับความต้องการของภาคการผลิตที่กำลังพัฒนาและอยู่ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจทั้งโลกกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0

ทั้งนี้ ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานเผยว่า ส่วนที่มีการขาดแคลนมากที่สุด คือ “แรงงานฝีมือด้านเทคนิค” โครงการ “สัตหีบโมเดล” ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีของ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเป็น “โมเดลต้นแบบ” ในการสร้างบุคลากรแรงงานทักษะสูงให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคผลิต รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเข้าสู่ขั้นวิกฤติ อย่างไรก็ตามคาดว่า ตลาดชิ้นส่วนหลังการขายเครื่องบินทั่วโลก (The global aircraft after market parts market) ยังสามารถอยู่ในตลาด และยังอยู่ในความต้องการ เนื่องจากหลายสายการบินยกเลิกแผนในการซื้อเครื่องบินใหม่ และใช้วิธีซ่อมบำรุงเครื่องบินเดิมให้ดีเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ